กรมวิทย์ฯโชว์นวัตกรรม "กับดักไข่ยุงลีโอแทรป" ตัดวงจรชีวิตยุงลาย ตัวก่อโรค
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการ ป้องกันกำจัดแมลง และสัตว์อื่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุข ว่า ชีววิทยาของแมลง และสัตว์แต่ละชนิด จะปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ยังสามารถปรับตัวจนเกิดการดื้อต่อสารเคมีได้อีกด้วย ซึ่งมีสัตว์และแมลงบางชนิด เป็นปัญหาทางสาธารณสุข ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้ซิก้า ไข้มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ ลิชมาเนีย และโรคภูมิแพ้ต่างๆ เป็นต้น ประกอบกับ สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยมีลักษณะอากาศ และอุณหภูมิที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแมลงเป็นอย่างดี จึงมักประสบปัญหาสาธารณสุขที่เกิดจากแมลงที่มีอยู่หลายชนิด
นายแพทย์อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ศึกษาวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเพื่อกำจัดแมลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด นักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนานวัตกรรมกับดักไข่ยุงลีโอแทรป (Leo-Trap) ขึ้น มีหลักการทำงาน คือใช้สารสกัดจากหอยลายที่ยุงชอบ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์สารดึงดูด ใส่ไว้เป็นตัวล่อยุงให้บินเข้ามาในกับดัก ซึ่งได้ออกแบบกับดักคล้ายโอ่งสีเขียวและดำ มีฝาให้เกิดร่มเงา นำไปทดสอบในสภาพธรรมชาติ จนกระทั่งพบว่า กับดักสีดำที่มีฝาสูง ภายในมีซีโอไล้ท์กำจัดลูกน้ำยุงลาย สามารถดึงดูดยุงเข้ามาติดกับดัก และวางไข่มากที่สุด ถ้าใช้กับดัก 1 สัปดาห์ จะช่วยกำจัดลูกน้ำยุงได้ประมาณ 500 ตัว แม่ยุง 1 ตัว จะวางไข่ได้ 300-500 ฟอง จึงสามารถตัดวงจรการเกิดโรคที่นำโดยยุงลายได้ ขณะนี้นวัตกรรม"กับดักไข่ยุงลีโอแทรป" อยู่ระหว่างยื่นขอจดนวัตกรรมไทย เพื่อนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนสามารถซื้อหามาใช้ได้เอง ลีโอแทรปจีงเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชนในการนำไปใช้กำจัดยุงลายได้ด้วยตนเอง