ทั่วโลกอยู่ในอาการเดียวกัน เมื่อต้อง 'ทั้งรัก-ทั้งชัง' กับทัวร์จีน
ทั่วโลกอยู่ในอาการเดียวกัน เมื่อต้อง 'ทั้งรัก-ทั้งชัง' กับทัวร์จีน
ประเด็นนักท่องเที่ยวจีน ยังคงเป็นข่าวคราวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแง่ความประพฤติและมารยาท
อย่างล่าสุดก็คือคลิปที่เผยให้เห็นกรุ๊ปทัวร์จีนแย่งกันตักกุ้งที่ห้องอาหารของโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่ละคนพยายามตักกุ้งให้ได้มากที่สุด โดยไม่คิดจะเผื่อแผ่เหลือให้คนข้างหลังได้ทาน หลายคนที่ตักไปเยอะ เสร็จแล้วก็กินไม่หมด เหลือทิ้งบานเบอะ
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ขึ้นชื่อเลื่องลือมากที่สุดของคนจีน ก็คือการเสียงดัง แซงคิว ทิ้งขยะไม่เลือกที่ และไม่ทำความสะอาดห้องน้ำเมื่อทำธุระส่วนตัวเสร็จ
แต่ในเมื่อนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลก โดยครองแชมป์ 3 ปีติดต่อกันแล้ว ในแง่ที่เป็นประเทศที่ประชากรออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดในโลก เฉพาะปีที่แล้วก็เกิน 100 ล้านคน (หรือเที่ยว) เข้าไปแล้ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น ก็ขึ้นกับว่าแต่ละประเทศจะหาทางรับมือเรื่องนี้อย่างไร จึงจะได้ประโยชน์จาก "กระเป๋าเงิน" ของนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด
กล่าวง่าย ๆ จะถอย คือ ไม่ต้อนรับให้เข้ามา แสดงความรังเกียจอย่างเปิดเผย
หรือว่าจะ "สู้และทน" เพื่อแลกกับรายได้เข้าประเทศ ในสภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาอย่างหนัก
เพราะอย่าลืมข้อเท็จจริงอันหนึ่งว่า นักท่องเที่ยวจีนนั้นชอบการชอปปิง และมีการใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูง
ว่าไปแล้วนักท่องเที่ยวจีน ก็คงเหมือนนักท่องเที่ยวมือใหม่ของไทย (และอีกหลายประเทศ) คือการออกไปเที่ยวต่างประเทศครั้งแรกมักเน้นไปที่การชอปปิง แม้แต่ครั้งสองครั้งสามก็ต้องช็อป แต่เมื่อนานไปนั่นล่ะ จึงจะหันไปชื่นชมวิวทิวทัศน์หรือวัฒนธรรม
อีกประการหนึ่ง จีนเป็นประเทศที่เปิดตัวเองสู่โลกภายนอกได้ไม่นาน ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากนัก จึงไม่รู้จักมารยาทสากล
เคยมีโอกาสคุยกับไกด์จีน เธอก็บอกว่า คนจีนที่ออกมาเที่ยวเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม "คนรวยใหม่" หรือเพิ่งรวยกลุ่มนี้เดิมเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่ว่ารวยข้ามคืนจากการขายที่ดินให้กับโครงการอุตสาหกรรมของภาครัฐ เช่น ในจูไห่ หรือเซินเจิ้น ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (ทั้งสองเมืองจะเห็นรถยุโรป ทั้งเบนซ์ บีเอ็มฯ และออดี้ ขับกันเต็มถนนไปหมด)
เมื่อรวยก็มีเงินออกไปเที่ยวต่างประเทศ และประเทศแรกที่พวกเขาออกไปเปิดหูเปิดตาก็คือไทย
ไกด์รายนี้ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่ค่อยสุภาพนั้น เป็นเพราะความ "รวยใหม่" ทำให้พวกเขาหยิ่งยโส คิดว่ามีเงินแล้วไม่ต้องง้อใคร คนอื่นต้องมาเอาใจพวกเขา (คนรวยใหม่มักมีนิสัยไม่อารยะเหมือนกันทั้งโลก)
ส่วนปัญหาเรื่องการใช้ส้วม เป็นเพราะคนจีนส่วนใหญ่เหล่านี้เคยชินกับส้วมแบบนั่งยอง ใช้ชักโครกไม่เป็น จึงเกิดปัญหาแบบที่คนไทยบ่นกันคุณไกด์คนนี้ยังพูดทีเล่นทีจริงว่า บางทีต้องโทษประเทศไทยเหมือนกันนะ ที่ไม่ทำส้วมยองให้คนจีนใช้
แต่ก็อย่างว่า คนจีนก็มีหลายระดับชั้น หลายการศึกษา จึงไม่อาจเหมาว่าคนจีนจะมีพฤติกรรมเหมือนกันหมด ซึ่งก็คงแบบเดียวกับคนไทยเวลาออกไปเที่ยวต่างประเทศ บางทีแม้จะมีการศึกษา แต่เมื่อพี่ไทยไปกันเป็นกลุ่มใหญ่เมื่อไหร่ก็ซ่าและไร้มารยาทไม่เบาเหมือนกัน
หลายประเทศทั่วโลก มีอาการแบบเดียวกันเมื่อพูดถึงทัวร์จีน คือ "ทั้งรัก-ทั้งชัง"
กล่าวแบบสำนวนไทยก็คือ เกลียดตัวกินไข่รัก (จำใจรัก) เพราะอยากได้เงินจากนักท่องเที่ยวจีน ที่ใช้จ่ายหนักมือ และชังเพราะไม่ชอบพฤติกรรมด้านลบของพวกเขา (และส่วนลึกแล้วจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับได้)
ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาติยุโรป นำโดยฝรั่งเศส ผ่อนคลายกฎระเบียบการออกวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน เพื่อดึงดูดให้เข้าไปเที่ยว ซึ่งก็ได้ผล อย่างที่เราได้เห็นจากข่าวว่าปีที่แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนรายหนึ่ง พาพนักงาน 6,400 คนไปเที่ยวฝรั่งเศส โดยเหมาโรงแรมระดับ 4 และ 5 ดาว 74 แห่ง 4,760 ห้อง และต้องใช้รถบัสขนส่งถึง 164 คัน
ประเมินว่า เฉพาะทริปนี้ของทัวร์จีนเป็นเวลา 4 วัน น่าจะมีการใช้จ่ายราว 33 ล้านยูโร (ราว 1,320 ล้านบาท) จึงไม่แปลกที่ประธานบริษัทดังกล่าวได้รับเกียรติให้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสด้วย
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อตะวันตกที่รายงานข่าวดังกล่าวนี้ ไม่มีการรายงานพฤติกรรมด้านลบของนักท่องเที่ยวจีนหรือเสียงบ่นจากชาวฝรั่งเศสออกสู่สาธารณะเลย ทั้งที่สื่อตะวันตกได้ชื่อว่ามีเสรีภาพมากที่สุด หากจะให้เดาก็คงเป็นเพราะสื่อจำเป็นต้องระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือสร้างความรู้สึกไม่ดีต่อคนจีน
ฝรั่งเศสก็เคยมีปัญหาเดียวกับไทย คือมีโรงแรมระดับบนบางแห่งในปารีส ได้ประกาศว่าไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน เท่านั้นล่ะ เกิดเสียงไม่พอใจยกใหญ่ จนในที่สุดโรงแรมแห่งนั้นต้องออกมาขอโทษ
ตามข้อมูลของสภาท่องเที่ยวภูมิภาคของหอการค้าปารีส ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวจีนโดยทั่วไป ใช้จ่ายต่อคนประมาณวันละ 171 ยูโร (ราว 6,800 บาท) สินค้าที่เป็นที่นิยมของคนจีนก็คือพวกแบรนด์เนมทั้งหลาย เช่น หลุยส์ วิตตอง
หากใครเคยไปปารีสและแวะเข้าไปในห้างดังอย่างแกลเลอรี่ ลาฟาแยตต์ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะสังเกตได้ว่ามีแต่คนเอเชียหัวดำเต็มไปหมด แทบจะไม่เห็นหัวฝรั่งเลย แน่นอนว่าคนจีนเยอะที่สุด และร้านที่มีคนต่อแถวยาวที่สุดคือ หลุยส์ วิตตอง
ที่แผนกบริการลูกค้าของลาฟาแยตต์ แน่นอนว่าต้องมีเอกสารภาษาเอเชียทั้งจีน ญี่ปุ่น ไทย (ที่เป็นลูกค้าหลัก) ไว้บริการ พร้อมพนักงานที่สามารถพูดภาษานั้น ๆ ได้ (ส่วนใหญ่จ้างพนักงานที่เป็นเจ้าของภาษา) ส่วนใหญ่แผนกนี้มีหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องการคืนภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว
ห้างฝรั่งเศสแห่งนี้มีวิธีแก้ปัญหาและรับมือคนจีนเพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้าชาติอื่น ด้วยการแยกแผนกบริการลูกค้าญี่ปุ่นออกไปต่างหากจากลูกค้าอื่น ๆ ตามคำร้องขอของนักช็อปญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยชอบใจความเสียงดังและมารยาทของคนจีน
หรืออย่างสวิตเซอร์แลนด์ ก็มีวิธีจัดการ ด้วยการแยกนักท่องเที่ยวจีนออกจากชาติอื่น เช่น จัดขบวนรถไฟพิเศษให้กับนักท่องเที่ยวจีนเป็นการเฉพาะในการขึ้นชมยอดเขา สาเหตุก็มาจากมารยาทชาวจีนที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาติอื่นไม่พอใจ ซึ่งก็ถือเป็นการแก้ปัญหาแบบ win-win
ผู้บริหารรถไฟที่ว่านี้บอกว่า ได้จัดทำป้ายวิธีใช้ห้องน้ำให้ทัวร์จีนได้ทราบด้วย และยอมรับว่าต้องทำความสะอาดห้องน้ำบ่อยกว่าปกติ
"ทัวร์จีนมีความสำคัญก็จริง แต่เราก็ต้องรู้วิธีบริหารจัดการ"
นี่คงเป็นวิธีเดียวกับ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรดัง เจ้าของวัดร่องขุ่น เชียงราย ที่ครั้งหนึ่งเคยรังเกียจทัวร์จีนถึงกับคิดจะปิดวัดไม่ต้อนรับทัวร์จีน เพราะไปทำสกปรกเลอะเทอะในห้องน้ำและสร้างความเสียหายให้กับวัดมาก
แต่ล่าสุดได้เปลี่ยนแนวคิดและมุมมองใหม่ เพราะเห็นว่าด่าไปก็เหนื่อยเปล่า แถมทัวร์จีนก็เข้ามาสร้างรายได้ให้กับชาวเชียงราย ไม่มีทางหนีทัวร์จีนพ้น ดังนั้น แทนที่จะด่าก็หันมาให้คำแนะนำ ทำความเข้าใจ สอนถึงวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง และจัดหาวิธีรับมือเพื่อลดปัญหา เช่น เขียนป้ายเตือนเป็นภาษาจีน เพิ่มเจ้าหน้าที่ที่พูดจีนได้คอยประกบ และทำความตกลงกับไกด์ว่าต้องให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวล่วงหน้าว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
หากลูกทัวร์คนไหนใช้ห้องน้ำแล้วไม่ล้าง ไกด์ก็ต้องมาล้าง หรือบางทีก็เพิ่มเจ้าหน้าที่สอดส่องหน้าห้องน้ำ หากเห็นนักท่องเที่ยวรายไหนไม่ล้างห้องน้ำ ก็บังคับกลับให้เข้าไปล้างต้องยอมรับว่า ณ ชั่วโมงนี้ จีนคือนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของโลก
ปรากฏการณ์ของพวกเขาเพียงทำให้เราได้เรียนรู้ว่าจะบริหารจัดการปัญหาใหม่ๆ อย่างไร เพื่อไม่ให้โอกาสทองในวิกฤตหลุดลอยไป