ศิษย์ธรรมกาย ข้องใจ DSI ปมออกหมายจับพระธัมมชโย
หลังจากเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอหมายจับ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งศาลก็ได้มีคำสั่งอนุมัติหมายจับแล้ว โดยทางดีเอสไอจะทำหนังสือแจ้งถึง พระธัมมชโย ให้เดินทางมามอบตัวกับพนักงานสอบสวนภายใน 7 ถึง 15 วัน ต่อมาในวันเดียวกัน วัดพระธรรมกาย ได้ประกาศเชิญชวนผู้ศรัทธาให้เปลี่ยนภาพโปรไฟล์ในเฟซบุ๊ก ให้เป็นภาพที่แสดงตัวอักษรว่า "เราเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของหลวงพ่อธัมมชโย"
ล่าสุด วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย แถลงข่าวถึงกรณีศาลอาญาอนุมัติหมายจับพระธัมมชโย ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษยื่นขอ ว่า บรรดาศิษย์ยานุศิษย์ต่างรู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และอยากย้อนถามดีเอสไอว่า เหตุใดตอนออกหมายเรียก เมื่อทางทนายความของพระธัมมชโยได้ยื่นเรื่องขอให้เปลี่ยนสถานที่รับหมาย เรียกจากดีเอสไอ มาเป็นวัดพระธรรมกาย เนื่องจากพระธัมมชโยมีอาการอาพาธ ดีเอสไอกลับไม่พร้อมเดินทางมา แต่พอเปลี่ยนเป็นหมายจับ ดีเอสไอกลับพร้อมที่จะเดินทางมาพบได้
และคณะศิษยานุศิษย์อยากขอให้ดีเอสไอช่วยให้ความกระจ่างกับสังคมด้วยว่า เหตุใดเอกสารทางการแพทย์และเวชระเบียนต่าง ๆ ที่ทนายความนำไปยื่น จึงขาดความน่าเชื่อถือ ทั้ง ๆ เอกสารทางการแพทย์ที่ยื่นต่อดีเอสไอมีถึง 3 ฉบับ ไม่ได้มีเพียงเอกสารทางการแพทย์ที่ออกโดยสหคลีนิกรัตนเวช ที่ตั้งในวัดพระธรรมกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเอกสารทางการแพทย์จากโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ส่วนเหตุผลที่ต้องไปออกใบรับรองแพทย์ที่ราชบุรี เพราะที่นี่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลหิตวิทยา และเวชระเบียนก็เป็นของโรงพยาบาลรัฐ
ดังนั้นจึงขอฝากไปถึงดีเอสไอให้ออกมาตอบคำถามสังคมด้วยเอกสารทางการแพทย์ที่ ทนายความนำไปยื่นไม่น่าเชื่อถือจริงหรือ และที่สำคัญขอโอกาสได้พูดแทนคุณหมอ แทนผู้เชี่ยวชาญที่มีศักดิ์ศรีในจรรยาบรรณทางวิชาชีพที่เสียหายด้วย เพราะส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับอาจารย์แพทย์ และเสียใจที่ดีเอสไอทำไมทำกับพระธัมมชโยแบบนี้
นายองอาจ กล่าวต่อว่า การดำเนินคดีพระธัมมชโย ในข้อกล่าวหาว่าฟอกเงินและรับของโจร ถือเป็นการดำเนินคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลที่ว่า สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น มีการนำเงินออกไปโดยเช็ค 878 ฉบับ จนสหกรณ์ประสบปัญหาทางการเงิน ดีเอสไอได้ส่งสำนวนไปยังอัยการแล้ว โดยไม่มีพระธัมมชโยอยู่ในฐานะผู้ต้องหา ซึ่งหลักกฎหมายระบุว่า มูลคดีใดที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปยังอัยการแล้ว อำนาจในพิจารณาจะอยู่ที่อัยการ พนักงานสอบสวนจะไปตั้งข้อหาบุคคลอื่นในมูลคดีเดิมโดยพลการไม่ได้ อีกทั้งอัยการได้สั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปสอบสวนเพิ่มเติมถึงเส้นทาง การเงินของเช็คดังกล่าว โดยมีการได้มาสอบปากคำพระธัมมชโยแล้ว ที่รับเช็คจากนายศุภชัย จำนวน 10 ฉบับ แล้วส่งไปยังอัยการ และเสนอให้อัยการตั้งข้อหาสมคบกันฟอกเงินและรับของโจรแก่พระธัมมชโยนั้น กรรมการการเงินได้มีการโอนเข้ามูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสาธารณะแล้ว ไม่มีการเบิกออกไปเป็นเงินสดแม้แต่บาทเดียว ก่อนที่จะนำเงินทั้งหมดไปก่อสร้าง
ทั้งนี้ การตั้งข้อหารับของโจรนั้น ศิษยานุศิษย์รู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะพระธัมมชโยรับมาอย่างเปิดเผย และคงเป็นการเสียมารยาทหากถามว่าเงินนี้มาจากไหน พระธัมมชโยไม่เคยเห็นเช็ค ไม่เคยเห็นตัวเลข ไม่เคยเบิกเงินออกจากบัญชีแม้แต่บาทเดียว
พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงภาพถ่ายพระธัมมชโย ขณะกำลังปล่อยนกนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 โดยพระธัมมชโยเดินไม่ไหวจึงนั่งรถไปปล่อยนกหน้ากุฏิใกล้ ๆ ภายในวัด ที่มีการเผยแพร่ข่าวออกไปว่า นั่งรถไปปล่อยนกที่บ้านลูกศิษย์ จึงเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งจะมีการไปแจ้งความกล่าวโทษผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จนี้ในระบบ คอมพิวเตอร์
โดยหลังจากนี้จะไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมประจำ จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขอความเป็นธรรมให้พระธัมมชโย และเพื่อไม่ให้วัดพระธรรมกายตกเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว รวมทั้งการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการกับ พ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่เกี่ยวข้อง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ