ยิ่งกว่าลิงแก้แห!
ไม่รู้เพราะยัง “เมาหมัด” จากการที่ถูกบริษัทสื่อสาร “แจส โมบาย” ลูบคมหรืออย่างไร? วันวานจึงได้เห็น ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อถึงการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ที่ กสทช.จะนำมาประมูลใหม่ (Re-auction) หลัง “แจสโมบาย” ถอดใจทิ้งใบอนุญาตไปครั้งก่อน
นอกจากบอร์ด กทค.จะกำหนดราคาตั้งต้นประมูลใหม่ ที่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่ผู้ประมูลได้ครั้งก่อนไข่ทิ้งไว้ 75,000 ล้านบาทแล้ว ยังตั้งเงื่อนไขให้เพิ่มหลักประกันการประมูลจากเดิม 5% ขึ้นเป็น 10-30% ของราคาคลื่นที่จะประมูลใหม่ ที่นัยว่าเพื่อตีกันไม่ให้บริษัทสื่อสารเบี้ยวจ่ายเงินค่าใบอนุญาตได้อีก
ดูเหมือนแนวคิดของ กทค.-กสทช.ข้างต้นจะได้รับการขานรับจากนักวิชาการของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เจ้าเก่าในทันที แถมประเมินภาพอย่างสวยหรู “เจ้าสาวม่ายขันหมาก” ที่ กสทช.กำลังจับมาใส่ตะกร้าล้างน้ำประมูลใหม่หนนี้ จะมีบริษัทสื่อสารวิ่งเข้าหากันคึกคักเช่นเดิมแน่ และน่าจะมีความต้องการมากกว่าด้วย
ขณะที่วงการโทรคมนาคมได้แต่ส่ายหน้า ไม่รู้ กสทช.คิดอะไรอยู่กันอยู่ อยากจะให้มีการประมูลคลื่นนี้จริงๆ หรือเดินเกม “ตอกฝาโลง” ไม่ต้องการนำคลื่นนี้ออกมาประมูลกันอีก ถึงได้ตั้งเงื่อนไขประมูล “หลุดโลก” ได้ขนาดนี้! ลำพังแค่บอร์ดโทรคมนาคม (กทค.) ตั้งราคาตั้งต้นประมูลใหม่ที่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาเดิมที่รายเก่าไข่ทิ้งไว้คือ 70,000-75,000 ล้านบาทนั้น ก็ทำเอาบริษัทสื่อสารยักษ์อย่าง “ดีแทค” โบกมือลาขอบายการประมูลรอบนี้ไปแล้ว นี่ยังจะมากำหนดเงื่อนไขให้ต้องเพิ่มวงเงินค้ำประกันการประมูลขึ้นไปเป็น 10-30% เข้าไปอีก
อย่าว่าแต่เพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกันการประมูลขึ้นเป็น 10-20% เลย แค่ให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5% ตามเกณฑ์เดิม ภายใต้เงื่อนไขราคาตั้งต้นประมูลใหม่ที่ กสทช.ดั้นเมฆขึ้นไปสูงกว่า 70,000 ล้านบาทนั้น มันก็ปาเข้าไปกว่า 3,500 ล้านบาทขึ้นไปแล้ว ระดับราคานี้จะมีบริษัทสื่อสารรายไหนหลวมตัวเข้าประมูลยังคิดหนักอยู่เลย...นี่ยังจะเพิ่มสัดส่วนเงินค้ำประกันประมูลขึ้นไปเป็น 10-30% หรือกว่า 7,000-22,000 ล้านบาทเข้าไปอีก เจอไม้นี้เข้า ยังคิดอีกหรือว่ายังจะมีบริษัทสื่อสารหน้าไหนโดดเข้าร่วมประมูลอยู่อีก!
แม้แต่ “ทรูมูฟ” ที่ กสทช.ป่าวประกาศปาวๆๆ ว่ามีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลด้วยก็เถอะ!
ยิ่งเมื่อคลี่เกณฑ์การประมูลหนนี้ ที่ กสทช.กำหนดเงื่อนไข หากบริษัทสื่อสารหยุดเคาะราคาพร้อมกัน โดยที่ราคาสุดท้ายเท่ากันนั้น กสทช.จะให้คอมพิวเตอร์สุ่ม “แรนดอม” ใส่พานให้เอง เรียกได้ว่าหากบริษัทสื่อสารรายใดหลวมตัวเข้าร่วมประมูลหนนี้ ไม่ว่าจะเคาะราคาหรือไม่ก็มีสิทธิ์ได้แบกใบอนุญาต 4 จี คลื่น 900 นี้กลับบ้านสุดทุลักทุเลไปด้วยแน่
ดูไปแล้วก็เห็นทีว่าเจ้าสาว “ม่ายขันหมาก” ที่ กสทช.จับใส่ตะกร้าล้างน้ำจะนำมาประมูลใหม่หนนี้คงได้ขึ้นคานสมใจอยากแน่ เพราะต่อให้ยกคลื่นความถี่ให้ทรูไปโดยตรง ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องจ่ายค่าต๋งแก่รัฐ และ กสทช.ในระดับนี้เชื่อแน่ว่าต่อให้ทรูเองก็ไม่เอาด้วยแน่ ไม่งั้นจะร่อนหนังสือตีโพยตีพายไปถึง กสทช.หรือหากอนาคตประมูลใหม่แล้วได้ค่าต๋งต่ำกว่าเดิมก็ขอให้ กสทช.ลดค่าต๋งประมูลให้ทรูด้วยเพื่อความเป็นธรรม
ล่าสุด “ค่ายเอไอเอส” ก็เพิ่งประกาศบรรลุข้อตกลงการเป็น “พันธมิตรธุรกิจ” เพื่อร่วมกันพัฒนาและใช้โครงข่ายโทรคมนาคมร่วมกัน ปลดล็อคปัญหาเรื่องคลื่นความถี่และเสาโทรคมนาคมที่จะมารองรับการดำเนินธุรกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าไปด้วยแล้ว ทำให้ความจำเป็นในการที่ต้องวิ่งโร่เพื่อช่วงชิงคลื่นความถี่ใหม่หมดลงไปโดยปริยายด้วยแล้ว ก็เห็นทีว่าโอกาสที่ กสทช.จะต้อง “แห้ว” จากการเปิดประมูล 4 จีหนนี้จึงมีอยู่สูงยิ่งและอาจต้องเก็บคลื่นนี้ไว้อย่างน้อย 1 ปีตามที่ตั้งธงกันไว้ก่อนหน้าหรืออาจทอดยาวนำไปประมูลพร้อมกับคลื่น 1800 MHz ที่จะหมดสัมปทานกันในปี 2561
ทั้งหลายทั้งปวงก็ล้วนเกิดจากนโยบายลิงแก้แหเพียงแค่จะเอาใจบริษัทสื่อสารยักษ์ที่ดั้นเมฆประมูลคลื่นความถี่ไปแบบ “แพงเว่อร์” จนหารันเวย์ลงกันไม่เจอนั่นแหล่ะ !!!