'ภูเก็ต' ทุ่ม 2.4 หมื่นล้าน ผุดรถไฟรางเบา
. "ภูเก็ต" ฟังความคิดเห็นประชาชน ผุดระบบขนส่งมวลชน เลือกรถไฟรางเบาความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แก้ปัญหาการจราจร ทุ่มกว่า 24,000 ล้านบาท เนรมิต คาดเปิดใช้งานได้ปี 64...
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ม.ค.58 นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 3 โครงการการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต เส้นทางท่าอากาศยานภูเก็ต อ.ถลาง–ห้าแยกฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งมีหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาในพื้นที่และภาคประชาชนกว่า 200 คนเข้าร่วม ว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต เป็นการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนจากสถานีรถไฟท่านุ่น จ.พังงา สู่บ้านท่าฉัตรไชย อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยใช้สะพานเทพกระษัตรีมุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี) โดยก่อสร้างไปกลางเกาะกลางถนนจนถึงแยกทางหลวงชนบท ภก.3033 ซึ่งเป็นเส้นทางไปยังหาดไม้ขาว อ.ถลาง มุ่งหน้าไปตามถนนเทพกระษัตรีเลี้ยวขวาเข้าท่าอากาศยานภูเก็ตตามทางหลวงหมายเลข 4031 ขนานไปกับแนวทางวิ่ง (รันเวย์) โดยออกจากท่าอากาศยานภูเก็ตไปตามทางหลวงหมายเลข 4026 จนบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 402 โดยเลี้ยงขวาแล้วตรงไปจนถึงแยกถนนดอนจอมเฒ่า
นายพีระพล กล่าวต่อว่า จากนั้นแนวเส้นทางจะไปตามทางหลวงหมายเลข 402 จนไปบรรจบกับสามแยกบางคู โดยตรงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนเทพกระษัตรีเข้าสู่ตัวเมืองเทศบาลนครภูเก็ต จนถึงแยกถนนรัษฎาตรงไปตามถนนภูเก็ตเลี้ยวขวา ที่สี่แยกสะพานหินผ่านหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ผ่านสะพานคลองเกาะผีเข้าสู่ถนนศักดิเดชไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4021 (ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก) แล้วซ้ายสี่แยกดาวรุ่งตรงไปห้าแยกฉลอง รวมระยะทาง 60 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีให้บริการ 20 สถานี ได้แก่ สถานีท่านุ่น สถานีท่าอากาศยานภูเก็ต สถานีถลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร สถานีเกาะแก้ว สถานีขนส่งผู้โดยสารภูเก็ตแห่งที่ 2 สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต สถานีทุ่งคา สถานีเมืองเก่า สถานีวงเวียนหอนาฬิกา สถานีบางเหนียว สถานีห้องสมุดประชาชนจังหวัดภูเก็ต สถานีสะพานหิน สถานีศักดิเดช สถานีดาวรุ่ง สถานีวิชิต สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก สถานีป่าหล่ายสถานีบ้านโคกโตนดและสถานีฉลอง
“โครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ได้มีการออกแบบให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการเชื่อมต่อการเดินทางและเป็นการแก้ปัญหาจราจรติดขัดด้วยการสร้างทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน สามารถบรรเทาปัญหาการคมนาคมขนส่งที่คับคั่งของ จ.ภูเก็ต และลดต้นทุนการขนส่งให้ถูกลงจากเดิมที่ใช้รถยนต์เป็นหลัก"
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนจำนวน 189 จุด โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับรูปแบบการเดินทางเดิมในท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมีการออกแบบไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ สัญญาณไฟจราจร เครื่องกั้นและปิดจุดตัดทางผ่าน (ทดแทนด้วยการกลับรถที่ทางแยก) ซึ่งระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม คือ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tramway)โดยออกแบบรองรับความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอัตราค่าโดยสารที่ 18 + 2.5 บาท/กม.ผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจและการเงินของโครงการฯพบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุน โดยมีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจร้อยละ 23.78 มูลค่าการลงทุนประมาณ 24,000 ล้านบาท หากสามารถดำเนินการได้จะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2564
..... เราเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าทำได้ทุกๆหัวเมืองใหญ่ หรือทุกๆเมืองท่องเที่ยวคงจะดี สมัยก่อนเคยมีโครงการจะทำโมโนเรลที่พัทยานะ แต่ล้มเลิกไปแล้วอ่ะ น่าเสียดาย .....