สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรมึน ทอท.แจงจุดส่งมอบสินค้าไม่เคลียร์
สมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรมึน คน ทอท.แจงบริการจุดส่งมอบสินค้าแปรสภาพไปเป็นกิจการสัมปทานประเคนให้เอกชนตั้งแต่เมื่อไหร่ ชี้ยิ่งโต้ก็ยิ่งเห็นพฤติกรรมปกป้องผลประโยชน์เอกชน จี้คมนาคม-สตง.ยื่นมือตรวจสอบ ด่วนก่อนรัฐเสียหายมากกว่านี้
แหล่งข่าวในสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ฝ่ายบริหาร บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ออกโรงชี้แจงกรณีการให้สิทธิการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick up Counter) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ซึ่งล่าสุด ทอท.ได้นำเสนอรายงานสรุปต่อที่ประชุมบอร์ด ทอท.เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยระบุว่า เป็นการให้สิทธิโดยผ่านการประมูลคัดเลือก โดยในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ ทสภ.นั้น เอกสารประกอบสัญญาได้ระบุให้ Pick up Counter เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่ผู้ชนะการประมูลจะดำเนินการภายใต้สัญญา โดยจะครบกำหนดในวันที่ 27 กันยายน 2563 ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ทอท.ได้ผนวกกิจกรรมดังกล่าวไปให้ผู้ประกอบกิจการร้านปลอดภาษีเป็นผู้ดำเนินการ เพราะในระยะหลังกิจกรรม Pick up Counter เริ่มเป็นที่สนใจ จึงได้มีการประมูล Pick up Counter ควบคู่กับร้านค้าปลอดอากร
แต่ประเด็นที่ ทอท.ไม่ได้ให้ความกระจ่างก็คือ แต่เดิมจุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินดอนเมืองนั้น เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมือง และนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ ไม่ได้ปิดกั้นให้เอกชนรายหนึ่งรายใดผูกขาด แต่เหตุใดเมื่อ ทอท.ให้สิทธิ์บริษัทเอกชนเป็นผู้บริหารจุดส่งมอบสินค้าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยผนวกไปอยู่ในกิจกรรมเชิงพาณิชย์นั้น กลับปิดกั้นไม่ให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาใช้จุดส่งมอบสินค้าที่ว่านี้ โดยอ้างว่าตัวเองได้สิทธิผูกขาดรายเดียว ซึ่งผิดไปจากวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าที่ทุกสนามบินนานาชาติจะต้องจุดให้บริการ
การที่ ทอท.อ้างว่า ที่ต้องนำเอาบริการจุดส่งมอบสินค้าหรือ Pick up counter ไปประมูลควบคู่กับกิจการร้านค้าปลอดอากรในสนามบินดอนเมืองนั้น เพราะเห็นว่ามีผู้สนใจกิจการนี้หลายราย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงทำไม ทอท.จึงไม่แยกกิจการดังกล่าวออกมาเปิดประมูลเป็นการทั่วไป เพราะ ทอท.เองก็รู้ดีกว่า มีผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในเมืองหลายรายที่จำเป็นต้องใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าในสนามบิน
“จุดนี้ชี้ให้เห็นพฤติกรรมของคน ทอท.ที่เปิดทางให้บริษัทเอกชนกินรวบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองไปโดยปริยาย จึงน่าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สตง.และกระทรวงคมนาคมจะได้เข้ามาตรวจสอบว่า ที่ผ่านมารัฐบาลต้องสูญเสียผลประโยชน์ไปจากการปิดกั้นการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าที่ว่านี้ไปมากน้อยเท่าไหร่”
ส่วนการที่ฝ่ายบริหาร ทอท.อ้างว่า ต้องรอให้สัมปทานร้านค้าเชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิที่ผนวกเอาจุดส่งมอบสินค้าสิ้นสุดลงในปี 2563 จึงจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไปนั้น แท้จริงแล้วเป็นความพยายามหาทางออกให้กับบริษัทเอกชนที่กินรวบกิจการร้านค้าปลอดอากรทั้งใน และนอกสนามบิน เพราะหากเปิดประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดอากร และพื้นที่ส่งมอบสินค้าในสนามบินเปลี่ยนมือไป ไม่ใช่เอกชนรายเดิมตัวเอง ก็จะไม่มีช่องทางส่งมอบสินค้าปลอดอากรที่จำหน่ายอยู่นอกสนามบินเช่นกัน
“หาก ทอท.ต้องการักษาผลประโยชน์ขององค์กรและรัฐ ทำไมจึงไม่มีหนังสือไปยังผู้บริหารจุดส่งมอบสินค้าให้ต้องให้บริการผู้ประกอบการรายอื่นเป็นการทั่วไปเช่นที่สนามบินภูเก็ตในขณะนี้ เพราะแม้จะอ้างว่าให้สัมปทานแก่เอกชนไปแล้วแต่ในสัญญาสัมปทานก็มีข้อสงวนสิทธิ์ที่ ทอท.สามารถใช้สิทธิ์สั่งให้บริษัทเปิดกว้างให้บริการจุดส่งมอบเป็นการทั่วไปได้ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง เพราะ ทอท.ก็รู้อยู่เต็มอก ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่จำเป็นต้องส่งมอบสินค้าแบบเดียวกับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯอยู่นับสิบราย แต่ทำไมจึงปิดกั้นให้บริษัทเอกชนรายดังกล่าวถูกขาดอยู่เจ้าเดียว โดยที่ ทอท.เองก็ไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย”