คองเกรสประชุมคณะกรรมาธิการอาวุธระบุวอชิงตันเตรียมทำสงครามโลกครั้งที่ 3
ภาพประกอบหากเกิดสงครามนิวเคลียร์โลกจะเป็นเช่นไร (ภาพจากเว็บไซต์)
กรรมาธิการอาวุธสภาคองเกรสสหรัฐจัดประชุมเตรียมการเรื่องสงคราม ไต่สวนผู้เกี่ยวข้องในสงครามไซเบอร์,การวางกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินทั่วโลกและสงครามนิวเคลียร์ ที่ประชุมเชื่อว่าสงครามอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่ปีโดยไม่ถึง 10 ปี ชี้สหรัฐมีปัญหาเศรษฐกิจลดลงหรือด้อยกว่ามหาอำนาจตรงข้าม
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 นายแพทริค มาร์ติน ได้เขียนรายงานกึ่งวิจารณ์ลงในเว็บไซต์ The World Socialist Website (www.wsws.org ) ระบุว่าวอชิงตันเตรียมทำสงครามโลกครั้งที่ 3 (Washington prepares for World War III) โดยในสำนักงานหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐจัดระบบเตรียมการไว้ ถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมทำสงครามโลกครั้งที่ 3
ทั้งนี้เพนตากอนสหรัฐเป็นห่วงก็คือความขัดแย้งทางทหารกับจีนและ/หรือรัสเซียเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นเหตุผลว่าสหรัฐจะต้องวางแผนทั้งด้านยุทธิวิธีและยุทธศาสตร์สงครามไว้รับมือ
นายแพทริค มาร์ตินรายงานว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนคณะกรรมาธิการสภาคองเกรส 3 คณะจัดประชุมประกอบด้วยคณะกรรมาธิการด้านอาวุธของวุฒิสภา (Senate Armed Services Committee) ถกกันเรื่องสงครามทางไซเบอร์ (cyberwarfare),คณะกรรมาธิการด้านอาวุธของสภาผู้แทน( House Armed Services Committee )ประชุมถึงประเด็นของขนาดและการวางกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินในจุดต่างๆที่สหรัฐวางไว้ทั่วโลก ในขณะที่คณะอนุกรรมาธิการอาวุธของ 2 สภาประชุมเกี่ยวกับความทันสมัยของอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐ
การประชุมครั้งนี้ไม่ได้พูดถึงโดยตรงที่สหรัฐเตรียมทำสงคราม หรือไม่ได้กล่าวถึงสงครามครั้งใหญ่ระหว่างประเทศมหาอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะมีความหมายต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ หรือชีวิตที่มีอยู่บนโลกนี้
ในทางตรงกันข้ามกลับยกตัวอย่างที่กล่าวว่าอะไรคือระบบของสงครามโลกครั้งที่ 3
นอกจากนี้ได้ยกตัวอย่างว่าหากสหรัฐทำสงครามกับจีน และ/หรือรัสเซีย ก็มีการไต่สวนทั้งตั้งคำถามและแสดงความเห็นจากทั้งวุฒิสมาชิกและส.ส. ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน แสดงความวิตกถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตรวมทั้งแสดงงานเขียนและข้อมูลต่างๆที่เคยไต่สวนในวุฒิสภาและสภาผู้แทนมาก่อนหน้านี้แล้ว
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเตรียมการสงครามโลกได้พูดถึงการใช้อาวุธไซเบอร์ (cyber weapons) การใช้เรือบรรทุกเครื่องบิน,การทิ้งระเบิด,การใช้ขีปนาวุธรวมทั้งอาวุธต่างๆที่กองทัพมีอยู่ อย่างไรก็ตามกลับไม่ได้พูดถึงความขัดแย้งในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่ทะเลจีนใต้,ยูเครน,ซีเรียและที่อื่นๆ
การไต่สวนแต่ละคณะได้พูดถึงความขัดแย้งของสหรัฐที่มีต่อมหาอำนาจอื่น (บางครั้งก็ไม่เอ่ยชื่อ บางครั้งก็เอ่ยถึงจีนหรือรัสเซีย) โดยที่ประชุมมีความเชื่อว่าสงครามอาจจะเกิดภายในไม่กี่ปี ไม่ถึงทศวรรษ (years rather than decades),การไต่สวนถึงอันตรายจากกลุ่มก่อการร้าย, ความโกลาหลที่จะขึ้นจากการแสดงความเห็นของผู้คนในสังคมอเมริกัน แต่ก็จะมีพลเมืองจำนวนหนึ่งไม่สนใจและไม่เกี่ยวข้อง
ในประเด็นหนึ่งระหว่างการอภิปรายเรื่องสงครามไซเบอร์นั้นมีคำถามจากวุฒิสมาชิกจีนน์ ชาฮีน รัฐนิวเจอร์ซี่พรรคเดโมแครต คณะกรรมาธิการตอบพร้อมกันว่าสงครามไซเบอร์จะมาจากรัฐประเทศ (nation-states) ไม่ใช่มาจากกลุ่มก่อการร้าย
การไต่สวนดร.ปีเตอร์ ดับเบิ้ลยู.ซิงเกอร์ ที่ระบุว่าเป็นนักยุทธวิธีและนักวิชาการอาวุโสจากสำนักคิด New America ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดร.ปีเตอร์ได้เสนอรายงาน “บทเรียนของสงครามโลกครั้งที่ 3” (The Lessons of World War 3 ) ที่ตระเตรียมมาอย่างดีโดยมีจินตนาการว่า
“เรือรบของสหรัฐและจีนต่อสู้กันในทะเล,ยิงกันทุกรูปแบบจากปืนใหญ่ไปถึงขีปนาวุธถึงยิงด้วยแสงเลเซอร์. เครื่องบินรบของรัสเซียและสหรัฐต่อกรกันทางอากาศ,หุ่นยนต์โดรนถูกปล่อยขึ้นท้องฟ้าแทนนักบิน. กลุ่มแฮกเกอร์ที่เซียงไฮ้และซิลิคอน แวลเลย์ดวลกันในสนามดิจิตอล. การต่อสู้กันในอวกาศจะทำให้รู้ว่าใครจะชนะบนพื้นโลก. ฉากต่างๆเหล่านี้เกิดจากนวนิยายหรือว่ามันจะเกิดขึ้นจริงบนโลกในวันหลังจากวันพรุ่งนี้ คำตอบก็คือเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง”
การไต่สวนครั้งนี้ไม่เห็นมีการอภิปรายถึงเรื่องสงครามครั้งใหญ่หรือความจำเป็นในการที่จะชนะสงคราม แต่แน่นอนสหรัฐต้องการ“ชัยชนะ” ต้องการเป็นมหาอำนาจทางอาวุธนิวเคลียร์ การอภิปรายยังกล่าวถึงเรื่องเทคโนโลยี,อาวุธที่มีอยู่และกำลังคนที่กองทัพสหรัฐจะต้องเปิดเผยออกมา
จากการสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าวพบว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตหรือส.ส.จากพรรครีพับลิกัน ทั้งๆที่สองพรรคนั่งกันอยู่ฝั่งตรงข้ามทั้งในคณะกรรมาธิการและคณะอนุกรรมาธิการ ไม่มีการจัดการใดๆ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการตั้งคำถามหรือแสดงความเห็นต่าง ดังนั้นจึงมีคำถามว่า “พวกเขาเป็นคนของพรรคใดกันแน่”
การรายงานของสื่อในวอชิงตันเห็นได้ว่าทั้ง 2 พรรคมีความเห็นต่างกันอย่าง“ร้าวลึก”ทางการเมือง แต่ในปัญหาหลักการพื้นฐานของประเทศทั้งสองพรรคต่างก็เห็นร่วมกันรวมทั้งการเตรียมทำสงครามโลกครั้งนี้ด้วย
กล่าวได้ว่านักการเมืองเหล่านี้เป็นผู้แทนของธุรกิจขนาดใหญ่ จึงไม่มีการขัดขวางใดๆที่จะนำไปสู่สงคราม อย่างไรก็ตามปัจจุบันสังคมอเมริกันมีปัญหา 2 จุดใหญ่ที่จะต้องพิจารณา ประการแรกเศรษฐกิจของสหรัฐลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งขนาดใหญ่ ประการที่สองเกิดขึ้นภายในสังคมอเมริกันที่มีชนชั้นคนงานเพิ่มขึ้นมีเยาวชนที่เป็นลูกหลานของคนงานมากขึ้น (คนเหล่านี้จะถูกเกณฑ์ไปทำสงครามหากสงครามเกิดขึ้น)
ในการไต่สวนของคณะอนุกรรมาธิการ สภาผู้แทนฯที่พูดถึงเรื่องเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยการเชิญพลเรือเอกผู้หนึ่งเข้าไต่สวน พลเรือเอกผู้นี้แสดงความวิตกว่า “กองทัพมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำ ทั้งที่จริงจะต้องมี 15 ลำเพื่อครอบคลุมโลก” แต่ในความเป็นจริงแล้วสหรัฐต้องการถึง 21 ลำและเรือจะต้องมีขนาดใหญ่เท่าตัวจากที่มีอยู่ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามพลเรือเอกผู้นี้ให้ความเห็นว่าหากต้องต่อเรือขนาดดังที่ว่านี้ ไม่ว่าประเทศไหนก็ตามที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าสหรัฐแล้วประเทศนั้นก็ต้องถึงกับล้มละลาย
การไต่สวนเรื่องสงครามไซเบอร์ ในคณะกรรมาธิการวุฒิสภามีการพูดถึงความท้าทายทางทหารในสังคมอเมริกัน คนที่ถูกนำมาไต่สวนคือพลเอกคีธ อเล็กซานเดอร์ ที่เกษียณแล้ว เขาเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (the National Security Agency)และเป็นอดีตผู้บัญชาการไซเบอร์ (CyberCommand) กระทรวงกลาโหมสหรัฐ แต่ดูเหมือนว่าเขาจะคร่ำครวญกับการรั่วไหลของข่าวสารจากอดีตพนักงานสัญญาจ้าง เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน รวมทั้งพลทหารบก เชลซี แมนนิ่ง ถือว่าเป็นการ“โจมตีภายใน”ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกองทัพสหรัฐ
วุฒิสมาชิกโจ แมนชิน แห่งรัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย พรรคเดโมแครตถามเขาโดยตรงที่หมายถึงนายสโนว์เดนว่า “เราควรจะปฏิบัติต่อเขาเป็นคนกบฎทรยศ หรือไม่” พลเอกอเล็กซานเดอร์ตอบว่า “เขาควรจะได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นคนทรยศและมีความพยายามเป็นเช่นนี้” วุฒิสมาชิกแมนชินพยักหน้ารับอย่างเต็มที่เห็นได้ชัดเหมือนเป็นการรับรู้กัน
ในขณะที่หยิบยกชื่อของสโนว์เดนและแมนนิ่งขึ้นมากล่าวในคณะกรรมาธิการนั้นมีการระบุด้วยว่าคือ“ศัตรูภายใน”ซึ่งทำให้ตีความได้ว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลในประเทศสหรัฐอาจจะมีมากกว่าบุคคลสองสามคนที่เป็นคนคอยแจ้งเหตุ (whistleblowers) ก็ได้
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมันฝังลึกกับกลุ่มคนที่เข้าไปแทรกแซงหรือไปสร้างความขัดแย้งจนนองเลือดนานถึง 14 ปีเต็มในประเทศอัฟกานิสถาน,อิรัก,โซมาเลีย,ลิเบีย,ซีเรีย,เยเมนและตลอดจนทวีปอัฟริกาเหนือ
หากเกิดสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับมหาอำนาจอย่างจีนหรือรัสเซีย หรืออาจจะหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์กันได้ แต่ก็จะมีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรในสังคมอเมริกันทั้งเรื่องเศรษฐกิจและทรัพยากรมนุษย์ มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนอเมริกันก็จะลดลงบวกกับกองเลือดที่จะต้องเพิ่มขึ้น โดยลูกหลานของชนชั้นคนทำงาน (working class) ก็จะถูกเกณฑ์ไปทำสงครามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
แม้แต่ในสงครามเวียดนาม สหรัฐจัดการเปิดรับอาสาสมัครไปรบโดยหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ แต่ก็ได้รับการต่อต้านอย่างกว้างขวางในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ดังนั้นการทำสงครามที่ไม่ใช่สงครามนิวเคลียร์กับจีนหรือรัสเซีย มีความหมายว่าสหรัฐจะต้องฟื้นฟูระบบการเกณฑ์ทหารกลับมา และครอบครัวอเมริกันจะมีค่าใช้จ่ายเป็นชีวิตมนุษย์กันทุกครอบครัว
นายแพทริค มาร์ติน สรุปว่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ไม่ว่าจะรัฐบาลอเมริกันจะสร้างรัฐตำรวจขึ้นมายิ่งใหญ่แค่ไหน กรณีนี้จะเป็นมาตรวัดว่าคนอเมริกันจะมีความรู้สึกต่อต้านสงครามแค่ไหน เสถียรภาพของสังคมอเมริกันจะได้รับการทดสอบตรงนี้ นักการเมืองอเมริกันระดับนำก็หวั่นวิตกอย่างหนักว่าจะได้รับผลกระทบ(จากการตัดสินใจ) และก็เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบแน่นอน