เหลือเพียง21ปี!!! เราจะทำอย่างไร เมื่อโลกของเราโดนชนเบาๆ ด้วยอุกกาบาตขนาดยักษ์
เหลือเพียง21ปี!!! เราจะทำอย่างไร เมื่อโลกของเราโดนชนเบาๆ ด้วยอุกกาบาตขนาดยักษ์
มาถึงวันนี้แล้ว คำถามที่ว่า “เราจะทำอย่างไร ถ้า โลกของเราโดนชนด้วย อุกกาบาตขนาดยักษ์”อาจจะกลายเป็น คำถามที่เชยไปสักนิด แต่เราควรจะเปลี่ยนคำถามนิดหน่อยเป็น “เราจะทำอย่างไร เมื่อ โลกของเราโดนชน ด้วยอุกกาบาตขนาดยักษ์”
ความแตกต่างของคำถามทั้งสองอยู่ที่ คำว่า ถ้า กับ เมื่อ ในคำถามแรกที่ใช้คำว่า “ถ้า” นั้น ยังคงแสดงความเป็นไปได้ในระดับที่ ต่ำกว่าคำถามที่สองที่ใช้คำว่า “เมื่อ” เนื่องจากเป็นคำถามที่สะท้อน อย่างชัดเจนว่า สักวันหนึ่งโลกของเรา ต้องโดนชนแหงๆ
ทุกวันนี้นักดาราศาสตร์จำนวนมาก กำลังจับตาเฝ้ามองดูท้องฟ้า ส่องหาวัตถุในอวกาศที่มีโอกาส เคลื่อนที่ตัดกับแนวโคจรของโลก ซึ่งหมายถึงมีโอกาสพุ่งเข้าชนโลก จนเกิดหายนะอันยิ่งใหญ่ หากเราพิจารณาจากหลุมอุกกาบาตบนโลกหลายร้อยหลุม รวมกับหลักฐาน ทางธรณีวิทยา เราคงเข้าใจได้ดีว่า ตลอดระยะเวลานับพันล้านปีที่ผ่านมานั้น โลกโดนชนด้วยอุกกาบาตหรือดาวหางจนเกิดการระเบิดรุนแรงขนาดที่ สามารถผลาญป่าทั้งป่า ทำลายสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปมากมาย และนักดาราศาสตร์ เชื่อมั่นว่า แขกที่ไม่ได้รับเชิญจากอวกาศขนาดใหญ่ๆ แบบนี้ยังคงล่องลอย อยู่ในอวกาศ รอวันดีคืนร้ายที่จะมาทักทายเราบนผิวโลก
ความพินาศที่เราพูดถึงอยู่นี้คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นเป็นแน่ แต่ว่า นับตั้งแต่มีสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกราว 4 พันล้านปีนี้ ดูเหมือนว่า ถ้าจะมีสายพันธุ์ใดที่จะป้องกันหายนะนี้ได้ก็อาจจะมีเพียงสายพันธุ์มนุษย์ ของเราเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น
บางทีอาจจะมีคนตั้งคำถามว่า เราต้องกังวลกับเหตุการณ์นี้หรือไม่ ตัวอย่างที่น่าจะพูดถึงก็คือ การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้าง จะมั่นใจว่า เมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อนมีอุกกาบาตขนาดยักษ์พุ่งเข้าชนโลก ความรุนแรงนั้นทำให้ไดโนเสาร์ถึงกับต้องสูญพันธุ์ไปจากโลก นี่เป็นเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ที่นานมาแล้ว ถ้าจะหาเหตุการณ์ทำนองนี้ที่ใกล้ๆ กับเราหน่อยก็เมื่อ ประมาณ 49,000 ปีที่แล้ว มีอุกกาบาตที่มีองค์ประกอบหลักเป็นเหล็กพุ่งเข้าชนโลก ในบริเวณรัฐอะริโซนาในปัจจุบัน หลักฐานที่ทิ้งไว้เป็นหลุมอุกกาบาตขนาดหน้าตัด 1.2 กิโลเมตร โดยคาดว่าอุกกาบาตนี้สังหารสิ่งมีชีวิตในรัศมีหลายร้อยกิโลเมตรไปมากมายด้วย
ใกล้เข้ามาอีกก็ในปี พ.ศ. 2451 อุกกาบาตหิน หรือไม่ก็ชิ้นส่วนจากดาวหาง ได้พุ่งฝ่าบรรยากาศโลกเข้ามาแล้วก็เกิดการระเบิดขึ้นเหนือพื้นดินประมาณ 8 กิโลเมตรที่ทังกัสกาแถบไซบีเรีย ผลก็คือ ป่าที่ราบเป็นหน้ากลอง ไฟที่โหมไหม้ และความตายของสัตว์ป่าในพื้นที่กว่า 1,600 ตารางกิโลเมตร การระเบิดครั้งนั้นรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 10 เมกะตัน!
เฉียดฉิวเมื่อไม่นานมานี้ก็คือปี พ.ศ. 2539 ที่มีดาวเคราะห์น้อยขนาดกิโลเมตรกว่าๆ พุ่งฝ่าบรรยากาศโลกสูงจากพื้นดินประมาณ 450,000 กิโลเมตร (ไกลในสายตาคน แต่ในทางดาราศาสตร์ก็ไม่ต่างกับการเฉียดไปแค่เส้นผม) ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ เป็นวัตถุที่ใหญ่ที่สุดที่เฉียดเข้ามาใกล้ที่สุดเท่าที่เราเคยสังเกตได้ ประมาณกันว่า ถ้าลูกนี้เกิดระเบิดขึ้นมาก็คงมีความรุนแรงเทียบกับระเบิดจำนวน 5,000 -12,000 เมกะตันนั่นเลย และสิ่งที่ทำให้เราขวัญเสียมากที่สุดกับเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ เราตรวจพบดาวเคราะห์น้อยนี้ได้เพียง 4 วันก่อนหน้าที่มันจะผ่านโลกไปเท่านั้น!
หลังจากนั้น ระบบตรวจสอบวัตถุที่จะเฉียดมาทักทายกับโลกก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว นักดาราศาสตร์ในอะริโซนา และแคลิฟอร์เนีย กลุ่มเล็กๆ 4 กลุ่ม (ซึ่งนับหัวรวมแล้ว ยังน้อยกว่าพนักงานในร้านฟาสต์ฟู้ดด้วยซ้ำ) ได้ใช้กล้องดูดาวของพวกเขาช่วยกัน เขียนแผนที่ระบุวัตถุในอวกาศที่อยู่ใกล้โลกกันขึ้นมา วัตถุเหล่านี้มีชื่อย่อว่า NEOS : Near Earth Objects
สิ่งที่เข้าข่ายเป็น NEOS ก็คือ ดาวเคราะห์น้อย หรือดาวหาง ที่มีแนวทางโคจรตัดกับ แนวโคจรของโลกหรือเข้ามาเฉียดแนวโคจรของโลก ถ้า NEOS เคลื่อนที่ตัดกับ แนวโคจรของโลกโดยที่โลกของเราโคจรไปยังตำแหน่งนั้นพอดี ก็จะทำให้เกิด ความเสียหายกับโลกของเราตั้งแต่ เสียหายเป็นบางส่วน สูญสิ้นอารยธรรม หรือพินาศทั้งโลก ขึ้นอยู่กับว่า NEOS ที่ชนเรามีขนาดใหญ่แค่ไหน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มผู้ริเริ่มในการล่าดาวเคราะห์น้อยกลุ่มหนึ่ง ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเอ็มไอที, กองทัพอากาศ, ห้องปฏิบัติการลินคอล์น โดยมีเงินทุนสนับสนุนจากเพน-ทากอน พวกเขามีโอกาสได้ใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นกล้องดูดาวที่ทำงานร่วมกับดาวเทียมของกองทัพอากาศ กล้องถ่ายภาพ ระดับคุณภาพจากเอ็มไอที รวมทั้งระบบอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ทำให้พวกเขาสำรวจดาวหางและ ดาวเคราะห์น้อย ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ได้อย่างรวดเร็ว และมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพอากาศก็ยังเอาจริงกับเรื่องนี้ต่อไปโดยการส่งดาวเทียมจิ๋ว เพื่อค้นหาดาวเคราะห์น้อยโดยเฉพาะขึ้นไปอีกด้วย
ทีนี้ถ้าเราเกิดพบดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยที่ส่อแววว่าจะทำให้เรา เดือดร้อนขึ้นจริงๆ เราจะทำอะไรต่อไป
อันดับแรก เราต้องหวังไว้ก่อนว่า เราพบมันล่วงหน้าเป็นเวลานานพอ ที่จะให้เราทำอะไรได้ เริ่มจากการส่งยานอวกาศไปสำรวจองค์ประกอบ ของดาวเคราะห์น้อยนั้นว่ามันมีโครงสร้างเป็นอย่างไร เป็นหินหรือโลหะ เนื้อแน่นหรือร่วน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลให้เราตัดสินใจเลือกวิธี ปฏิบัติการได้เหมาะสม (ปฏิบัติการในขั้นนี้จะเหมือนกับปฏิบัติการของ ยานอวกาศเนียร์-ชูเมกเกอร์ ที่กำลังสำรวจดาวเคราะห์น้อยอีรอสอยู่ในเวลานี้)
ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอส อลามอส และลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ ก็มีแผน (ฝันหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) ดีๆ ในการจัดการกับ แขกตัวร้ายของเราอยู่หลายแผน พวกเขาอาจจะใช้ระเบิดนิวเคลียร์ทำลายมัน ให้เป็นผุยผง ถ้าดาวเคราะห์น้อยมีขนาดเล็ก แต่ถ้าลูกใหญ่ ก็อาจใช้วิธีเบี่ยงเบน ทิศทางการโคจรของมันแทนได้หากมีเวลามากพอ รวมทั้งทำการคำนวณได้อย่าง แม่นยำด้วย แผน-การบางอย่างก็อาศัยยุทธวิธีดั้งเดิมคือการระเบิดล้วนๆ แต่บางแผน ก็จะใช้สมอยึดอุกกาบาตเข้ากับเครื่องยนต์จรวด หรือเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ด้วยแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการเปลี่ยนวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อย (วิธีการ เปลี่ยนแนวโคจรของดาวเคราะห์น้อย มีให้เห็นในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Hammer of God ของ อาเทอร์ ซี. คลาร์ก)
นับถึงต้นปีนี้ มีการค้นพบ NEOS ขนาดตั้งแต่ 0.9 กิโลเมตร (ใหญ่พอจะ สร้างความเสียหายให้โลกทั้งใบได้) ขึ้นไปเพียงครึ่งหนึ่งของที่คาดกัน (น่าจะมีจำนวน 500-1,000) เท่านั้น เป็นไปได้ว่า ในบรรดาดวงที่เรายังสำรวจ ไม่พบนั้นจะเป็นดวงที่มีเส้นทางโคจรตัดกับโลกอยู่ด้วย และบางทีอาจจะกำลัง พุ่งมาที่โลกอยู่แล้วในตอนนี้ก็ได้ โดยเฉพาะหากมีดาวหางปรากฏตัวขึ้นในทันทีทันใดแล้ว ความตระหนกตกใจก็จะยิ่งรุนแรง เพราะโดยทั่วไป ดาวหางจะมีขนาดใหญ่กว่า แถมยังมีความเร็วในการพุ่งชนมากกว่าดาวเคราะห์น้อยถึงสองเท่า นั่นคือความเสียหายก็จะมีมากกว่าด้วย ดาวหางพวกนี้มักเป็นดาวหางที่มี คาบการโคจรรอบดวง-อาทิตย์นานมาก (ดาวหางเฮล-บอพพ์ก็เป็นหนึ่งใน ดาวหางพวกนี้) เรามักจะเห็นมันก็ต่อเมื่อมันเริ่มปลดปล่อยก๊าซและมวลสาร ออกมาซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อดาวหางเดินทางมาถึงดาวพฤหัสบดี หรืออาจจะเข้ามา ใกล้กว่านั้นก็ได้ ทำให้เรามีเวลาประมาณ 18 เดือนก่อนที่มันจะมาถึงโลก อันเป็นระยะเวลาที่น้อยนิดที่จะป้องกันตัว
สมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของอเมริกา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา ได้เห็นดาว “อะโพฟิส” มุงหน้าเดินทางมายังโลกซึ่งทางองค์การนาซาระบุทำนองว่า นับจากนี้ไปอีก 29 ปีข้างหน้า หรือตรงกับ “วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2579” อาจจะถือเป็น “วันชี้ชะตาของโลก” ซึ่งนับจากนี้(2558-2579)เหลือเพียง 21ปี
นอกจาก NEOS ขนาดที่ทำลายโลกแล้ว ยังมี NEOS ขนาดเล็กๆ ที่มีอานุภาพในการทำลายระดับเมือง หรือก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ในท้องทะเล อีกมากมาย ซึ่งเราเองก็เพิ่งจะตรวจพบได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของ จำนวนทั้งหมดเท่านั้นเอง
นั่นก็ทำให้เราวาดภาพในอนาคตได้ว่า อาจจะมีสักวันหนึ่งในขณะที่ เราออกไปเดินเล่นยามเย็น เรากลับเห็นแสงสว่างจ้าขึ้นอย่างฉับพลันที่ขอบฟ้า เพียงเดี๋ยวเดียวเราก็รู้สึกถึงพื้นที่สะเทือนเลื่อนลั่น พร้อมกับเสียงที่ดังกึกก้อง กัมปนาทปานฟ้าถล่ม แล้วทันใดร่างของเราก็โดนเผาผลาญเป็นธุลีจากอากาศ ที่ร้อนยิ่งกว่าร้อน ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเกิดอะไรขึ้น
แค่ฉากนี้ฉากเดียวก็เพียงพอแล้ว สำหรับเหตุผลของการเฝ้ามองฟ้า ระแวดระวังวัตถุจากฟากฟ้าที่อยู่ใกล้กับโลกของเรา และต้อง "ทำใจ"