ประมูล 4 จีบนไม้หลักปักเลน !
ถือเป็นอีกคำรบที่นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใครต่อใครพากันชื่นชมว่ามีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำอะไรก็เฉียบขาดตามประสาชาตินักรบ กลับทำให้ประชาชนคนไทยและนักลงทุนต้อง “ผิดหวังซ้ำซาก” กับการดำเนินนโยบาย “ไม้หลักปักเลน”
เพราะในขณะที่นายกฯ และหัวหน้า คสช.ประกาศจุดยืนต้องการเห็นการประมูล 4 จีบนคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เดินหน้าต่อไปได้เสียที หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อกว่า 1 ปีก่อน หัวหน้า คสช.เคยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จส่ังให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ระงับการประมูลเอาไว้ ด้วยข้ออ้างต้องการให้ กสทช.ปรับปรุงเงื่อนไขการประมูลให้เกิดความโปร่งใส จนทำเอาประชานคนไทยต้องผิดหวังกันมาหนหนึ่งแล้ว
ล่าสุดนายกและหัวหน้า คสช.ก็ช็อคความรู้สึกประชาชนคนไทยอีกครั้งเป็นคำรบ 2 ด้วยการสั่งให้ กสทช.เลื่อนการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ 900 MHz ออกไปอีกครั้ง จากกำหนดการประมูลในวันที่ 12 พ.ย.58 นี้ ทั้งที่ก่อนหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งจะไฟเขียวให้ กสทช.ร่นเวลาการประมูล 4 จีดังกล่าวขึ้นมาจากกำหนดเดิมในวันที่ 15 ธ.ค.58 มาดำเนินการต่อเนื่องไปพร้อมกับการประมูล 4 จีบนคลื่นความถี่ 1800 MHz
โดยนายกฯยังออกมาตอกย้ำหน้าจอทีวีปรามบรรดาผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวจะให้ล้มประมูลอีก โดยยืนยันความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าประมูล 4 จีนี้ ด้วยเกรงว่าหากการประมูลต่องล่าช้าออกไปจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน
แต่คล้อยหลังไม่ถึง 3 วัน คณะกรรมการกิจการโทราคมนาคม (กทค.) ก็ “กลับลำ” มีมติให้เลื่อนประมูล 4 จีบนคลื่น 900 MHz ดังกล่าวออกไปชนิดไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยโดยอ้างเป็นคำสั่งของนายกฯและหัวหน้า คสช.ท่ามกลางความงวยงงของแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมว่าเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายของรัฐกันแน่!
จะว่าขยาดกลัวว่าสหภาพรัฐวิสาหกิจบริษัททีโอทีที่ฮึ่มๆ จะยื่นฟ้อง กสทช.เพื่อให้ระงับประมูล หรือผวาเกรงนักวิชาการจะลุกขึ้นมาขย้ำก็ไม่น่าจะใช่ เพราะก่อนหน้าทีโอทีเคยยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองมาหนแล้ว แต่ศาลก็ไม่ระงับประมูล และเห็นว่าประกาศ กสทช.ไม่มีเนื้อหาใดที่ขัดต่อกฎหมาย
แล้วเหตุใด กทค.-กสทช.ถึงกลับมาทำเซอร์ไพรส์สั่งให้เลื่อนประมูลขึ้นมาซะงั้น!
แม้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.จะออกมายืนยัน นั่งยันว่าการเลื่อนวันประมูล 4จีบนคลื่น 900 MHz ออกไปครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเรื่องคลื่น 900 MHzกับทีโอที และไม่เกี่ยวกับการแทรกแซงจากรัฐบาลแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะมีข้อท้วงติงจากนักวิชาการ และองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชัน(ประเทศไทย)ที่หว่ันเกรงว่า การประมูลทั้ง 2 คลื่นความถี่ต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อาจก่อให้เกิดพฤติการการฮั้วราคาประมูลเอาได้
แต่ กสทช.เองก็เคยยืนยัน นั่งยันมาโดยตลอดไม่ใช่หรือว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลที่ กสทช.วางไว้นั้นมีความรัดกุมและไม่มีทางที่บริษัทสื่อสารจะฮั้วประมูลได้ เพราะมีมาตรการป้องกันการฮั้วประมูลอยู่แล้ว ทั้งการตั้งคณะกรรมการธรรมาภิบาลหรือคณะกรรมการตรวจสอบการประมูล 4 จีที่ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาเต็มลำเรือ
ทั้งยังมีการวางหลักเกณฑ์ตีกันการฮั้วประมูลเอาไว้อย่างรัดกุม กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประมูลต้องเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อใบอนุญาตและเงื่อนไขอื่นๆ อย่างคลื่น 1800 จำนวน 2 ใบอนุญาตที่ตั้งราคาเบื้องต้นไว้ 15,912 ล้านบาท (80% ของราคาคลื่น) ก็ตั้งเกณฑ์เอาไว้ให้ผู้ประมูลจะต้องเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้งๆ ละ 5% ของราคาเบื้องต้นหรือ 796 ล้านบาท หากมีผู้ประมูล 3 รายเคาะราคาครั้งแรกไป ราคาใบอนุญาตใบแรกก็ทะยานไปอยู่ที่ 18,300 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำแล้ว 2 ใบอนุญาตรวมกันยังไงก็ต้องมากกว่า 36,0000 ล้านบาทขึ้นไปแน่
ไม่แต่เท่านั้นเลขาธิการ กสทช.ยังออกมาตีปลาหน้าไซบริษัทสื่อสารน้อยใหญ่ที่จะเข้าร่วมประมูลด้วยว่าหากพบว่าเอกชนที่เข้าร่วมประมูลมีพฤติกรรมส่อฮั้วประมูลจะยกเลิกการประมูลทันที และจะดำเนินคดีอาญารวมทั้งขึ้นแบลก์ลิสต์ถึงขั้นริบใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเดิมด้วย
ที่สำคัญเลขาธิการ กสทช.เองออกมายืนยันด้วยว่าการร่นเวลาประมูลคลื่น 900 MHz ขึ้นมาดำเนินการต่อเนื่องไปพร้อมกับคลื่น 1800 MHz นั้น ยังช่วยรัฐประหยัดงบประมาณการจัดประมูลไปได้ถึง 70 ล้านบาทอีกด้วย และทำประชาชนได้ใช้บริการเร็วขึ้น เพราะคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ม.ค.59 ที่สำคัญยังทำให้รัฐบาลได้เงินจากการประมูลเร็วขึ้นด้วย
แล้วเหตุใดจู่ๆ บอร์ด กทค.และ กสทช.ถึง “กลับลำ” ชักเข้า-ชักออกนโยบายตนเองเช่นนี้! มันคิดเป็นอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากมี “มือที่มองไม่เห็น” หรือ Invisible Hand ชักใยอยู่เบื้องหลัง?
สำหรับประชาชนคนไทยแล้วการทอดเวลาประมูล 4 จีบนบคลื่น 900 MHz ออกไป 3 เดือน 6 เดือนที่อ้างกันเป็นวรรคเป็นเวรว่าจะทำให้รัฐได้ค่าต๋งเพิ่มขึ้นมากนั้น รัฐบาลและ กสทช.เอาอะไรมาเป็นเครื่องชี้วัดหรือว่ามันจะเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องที่มโนกันขึ้นมา
จะทำให้มีเอกชนหน้าใหม่กระโจนเข้ามาร่วมแข่งขันมากขึ้นหรือ? หรือทำให้หน้าเก่าที่พลาดประมูลครั้งแรกจะต้องใส่ราคาเต็มที่กระนั้นหรือ? บอกตามตรงยังมองไม่ออกไม่เข้าใจตรรกะหลุดโลกอะไรที่ว่านั่น!
เหนือสิ่งอื่นใดเราคงแต่ได้ต้ังคำถามไปถึงนายกฯและหัวหน้า คสช.ต่อการดำเนินนโยบาย “ไม้หลักปักเลน” ครั้งนี้ หากแม้แต่นโยบายที่นายกฯและหัวหน้า คสช.ตีปี๊บประกาศปาว ๆ ๆ จะต้องเดินหน้ายังล้มลุกคลุกคลานเป็นไม้หลักปักเลนเช่นนี้แล้ว รัฐจะไปเพรียกหาความมั่นใจจากนักลงทุนไทย-เทศที่ไหนได้อีก!!!