ระนอง ลั่น พระเขมือบภูเขา หวั่นสร้างความแตกแยก ลือไม่มีเอกสารสวาปามภูเขา ช่างกล้ายิ่งนัก!!!???
ร้องเรียน#01 ชาวบ้านเดือดร้อนจากการก่อสร้างมหาเจดีย์วัดป่าชัยมงคล
ร้องเรียน#02 ชาวบ้านเดือดร้อนจากการก่อสร้างมหาเจดีย์วัดป่าชัยมงคล
ชาวบ้านพรรั้งระนองร้องพระตัดเขาเตรียมสร้างเจดีย์น้ำโคลนทะลักเข้าพื้นที่
ชาวบ้านพรรั้งระนองร้อง พระวัดป่าปาดยอดเขาเตรียมสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ น้ำฝนชะดินแดงไหลเข้าพื้นที่บ้านและแหล่งน้ำใช้เสียหาย ลูกไก่จมโคลนตาย วอนทุกฝ่ายช่วยก่อนเกิดเหตุบานปลาย ในขณะที่เจ้าอาวาสระบุพร้อมเยียวยา
วันนี้ (4 พ.ย. 2558) เวลา 13.30 น. ที่วัดป่าชัยมงคล ม.3 ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง ได้มีชาวบ้านในพื้นที่รอบวัดป่าชัยมงคลกว่า 50 คนเข้าพบเพื่อพูดคุยกับพระครูภาวนาชัยมงคล เจ้าอาวาสวัดป่าชัยมงคล โดยมีพระครูอุปนันทโสภณ เจ้าคณะอำเภอเมืองระนอง นางวชิรา น่วมเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดระนอง นายอัฐณัฐ ภู่เพชร เจ้าหน้าที่นิติกร สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดระนอง นายก้องเกียรติ เภาวิเศษ รองนายกเทศมนตรีเมืองบางริ้น และผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมพูดคุย
พระครูภาวนาชัยมงคล เจ้าอาวาสวัดป่าชัยมงคล กล่าวว่า ทางวัดกำลังมีการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคล บนยอดเขาหลังวัด ซึ่งโครงการนี้มีมูลค่าราว 100 ล้านบาท โดยได้มีการขออนุญาตใช้พื้นที่โดยถูกต้อง ซึ่งช่วงนี้เป็นการเริ่มต้นการก่อสร้างมีการปรับพื้นที่บนยอดเขา และเมื่อมีฝนตกลงมาก็ทำให้น้ำฝนได้พัดพาเอาดินโคลนลงไปด้านล่างและทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทางวัดจะได้ให้ความช่วยเหลือและเยียวยาให้ จึงอยากให้มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกันในวันนี้ โดยเราจะไม่เอาผิดเอาถูก แต่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะทุกคนไม่ต้องการความเดือดร้อน วัดและหมู่บ้านหรือชุมชนต้องอยู่ร่วมกัน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นต้องมาคุยกัน
ทางชาวบ้านบอกว่า การก่อสร้างเจดีย์ของวัดทำไปโดยไม่ได้มีการพูดคุยหรือปรึกษากับชาวบ้านรอบข้างเลย ซึ่งระยะเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชาวบ้านทั้งทรัพย์สินและความหวาดระแวง คลองที่เคยมีน้ำใสสะอาดตอนนี้กลายเป็นน้ำโคลนไม่สามารถใช้งานได้ บ่อเลี้ยงปลาดุกของชาวบ้านก็ตื้นเขินจากดินโคลนที่พัดลงมา เล้าไก่ที่เลี้ยงไว้ไก่ก็ตายหมดทั้งคอกเนื่องจากจมโคลนจำนวน 80 ตัว อีกทั้งน้ำที่ใช้ทำประปาหมู่บ้านก็เริ่มขุ่น ตามซอยที่เข้าสู่บ้านเรือนก็จะมีขี้เลนและโคลนสกปรกทุกครั้งที่มีฝนตก ซึ่งหลายครั้งที่รถไม่สามารถสัญจรเข้าออกจากซอยได้ เนื่องจากติดดินโคลน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถนำรถออกไปทำมาหากินได้ รวมถึงช่วงที่มีฝนตกหนัก ชาวบ้านก็จะอยู่อย่างหวาดผวา เนื่องจากเกรงว่าดินบนยอดเขาจะถล่มลงมา นอกจากนี้ชาวบ้านยังสอบถามถึงการได้มาของที่ดินดังกล่าวด้วย โดยบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นป่าต้นน้ำที่ชาวบ้านใช้มายาวนาน แต่ปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้แล้ว
ทางด้านนางวชิรา น่วมเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดระนอง ได้ชี้แจงยืนยันว่า ทางวัดได้มีการขออนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าวอย่างถูกต้อง จาก สปก. ตามเอกสาร 2 ฉบับ คือ สปก.4-31ก แบ่งเป็นหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ 166/2546 ขอใช้ที่ดินเพื่อสร้างวัดจำนวน 15 ไร่ และเอกสารอีกฉบับเป็นหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ 163/2547 ขอใช้ที่ดินเพื่อ "ประโยชน์ในการปฏิบัติกิจทางพระพุทธศาสนา อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์" จำนวน 225 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา
ด้านนายอัฐณัฐ ภู่เพชร นิติกร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดระนอง (สปก.จ.ระนอง) ได้กล่าวกับชาวบ้านว่า ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆในการใช้ที่ดินถูกต้อง และก่อนออกเอกสารสิทธิ สปก.นั้น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนและมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ส่วนการออกเอกสารสิทธิ สปก. นั้น นอกจากยกให้เพื่อทำการเกษตรกรรมแล้ว ก็ยังสามารถยกให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ได้ เช่นที่วัดแห่งนี้
นายดุลยาพร มานะกล้า ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลเมืองบางริ้นเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ทางวัดยังไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตเพื่อก่อสร้างเจดีย์ ซึ่งเคยมายื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตแล้ว แต่เนื่องจากเอกสารไม่ครบถ้วน คือขาดหนังสืออนุญาตใช้ที่ดิน ทางเทศบาลจึงไม่สามารถออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ได้ ซึ่งในขณะนี้เป็นขั้นตอนการขุดและตักดินซึ่งก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน แต่การอนุญาตยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากทางวัดยังมีเอกสารในการขออนุญาตไม่ครบ คือหนังสืออนุญาตใช้ที่ดินของ สปก.
โดยสุดท้ายชาวบ้านขอให้ทางวัดพิจารณา 4 ข้อ คือ 1.ขอให้ทางวัดชะลอการก่อสร้าง หรือยุติไปเลย 2.หาวิธีแก้ไขปัญหาเหตุดินเลื่อนไหลที่กระทบกับชาวบ้าน 3.แก้ไขแหล่งน้ำใช้ที่มีดินเลื่อนไหลเข้าทับถม ขุ่นแดง 4. ทางวัดจะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร นอกจากนี้ชาวบ้านอยากให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิพื้นที่ดังกล่าวด้วย เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และในเบื้องต้นให้ทำการเฝ้าดูว่ายังมีการดำเนินการบนยอดเขาหรือไม่ หากยังมีอยู่ก็จะรวมตัวกันเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป ซึ่งทางด้านเจ้าอาวาสรับปากจะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและจะชะลอการก่อสร้างไปก่อน