"ฐากร" มั่นใจ 99.99% เปิดประมูล 4จี ได้แน่
เลขาฯ กสทช.มั่นใจ 99.99% การประมูล 4 จีเกิดแน่ คาดมกราคมปีหน้าได้ใช้ ดันไทยแซงหน้ามาเลย์ไอซีทีอาเซียน ด้านผู้เชี่ยวชาญย้ำผลดีต่อการสื่อสารทุกด้าน คาดเอไอเอสทุ่มหมดหน้าตักด้วยฐานผู้ใช้ในมือกว่า 40 ล้านราย ในขณะที่เจ้าอื่นไม่มีใครยอมใคร มั่นใจงานนี้แข่งดุแต่ไม่มีฮั้ว
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “เหลียวหลังแลหน้า 4G ยุคสิ้นสุดสัมปทานมือถือใครได้ประโยชน์” ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่าแม้มีข่าวบางหน่วยงานอาจฟ้องล้มประมูล 4G แต่ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบยืนยันการดำเนินการถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนกฎหมายที่ให้อำนาจ คลื่นความถี่ที่นำมาเปิดประมูล เป็นคลื่นความถี่ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน สามารถดำเนินการได้ โดยขณะนี้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งสถานที่และระบบการประมูลต่างๆ ที่จะจัดทำอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
“มั่นใจว่าการประมูล 4G ที่คลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ จะต้องมีผู้เข้าประมูลอย่างน้อย 3 ราย AIS ต้องพยายามเคาะหนี เพราะขณะนี้มีฐานลูกค้ากว้า 40 ล้านเลขหมาย DTAC แม้มีสัญญาสัมปทานอยู่ ซึ่งจะหมดปี 2561 ย่อมมีความต้องการแข่งราคาเพื่อความมั่นใจไว้ก่อน True เองก็มีความต้องการขยายฐานการตลาด ในขณะที่จัสมิน ต้องการแจ้งเกิดอยากเปิดตัวเป็นผู้ให้บริการหน้าใหม่ จึงคิดว่าการประมูลจะมีการแข่งขันที่ดุเดือดแบบไม่มีฮั้วแน่นอน”
สำหรับการจัดอันดับด้านไอซีทีในอาเซียน เรียงลำดับในปัจจุบัน ดังนี้ 1.สิงคโปร์ 2.มาเลเซีย 3.ไทย 4.เวียดนาม อย่างไรก็ดีการประมูล 4G ที่จะมีขึ้น จะทำให้ไทยก้าวแซงมาเลเซียอย่างแน่นอน คาดว่าภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ผู้ชนะการคัดเลือกจะสามารถให้บริการระบบได้ประมาณเดือนธันวาคมปีหน้า ในขณะที่คลื่นความถี่ 900 MHz ที่จะประมูลวันที่ 15 ธันวาคมนั้น ผู้ชนะการประมูลจะให้บริการระบบได้ในช่วงกุมภาพันธ์
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและประธานคณะอนุกรรมการมาตรฐานวิจัยและพัฒนาธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเลกทรอนิกส์ กล่าวว่า ระบบ 4G นั้น นอกจากผลประโยชน์เข้ารัฐตามที่มีการประเมินกันแล้ว เทคโนโลยีที่เร็วขึ้น จะส่งผลดีต่อทุกด้าน โดยด้านการศึกษาจะเกิดการกระจายองค์ความรู้ออกไปอย่างรวดเร็วขึ้น ด้านการแพทย์ การตรวจรักษาสุขภาพออนไลน์จะมีมากขึ้น รวมถึงจะได้เห็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จะมีการเติบโตขึ้นถึง 100% จากปัจจุบันมูลค่าธุรกิจ100,000 ล้านบาท เป็น 200,000 ล้านบาท รวมถึงประโยชน์ 4จีในด้านอื่นๆ เช่น สาธารณสุข และการศึกษา เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญไชย ไทยเจียม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าววิเคราะห์ว่า การประมูลที่จะเกิดขึ้น AIS มีฐานลูกค้าในมือกว่า 40 ล้านราย จึงต้องทุ่มหมดหน้าตัก เพื่อแก้ปัญหาก่อนที่จะวิกฤต เครือข่ายยริการเริ่มแออัดไม่เพียงพอ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความต้องการใบอนุญาตถึง 2 ใบ ในขณะนที่ DTAC ที่ยังมีอายุสัมปทานเหลือน่าจะอยากได้ 1 ใบ ในขณะที่TURE จะมีความต้องการอย่างน้อย 1 ใบ ที่คลื่นความถี่ 900 MHz
นายฐากรกล่าวว่า การเปิดประมูลเพื่อออกใบอนุญาตมือถือระบบ 4 จี บนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน และวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ตามลำดับ มีผลการวศึกษาของคณะเศรษฐศาศตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเกิดประโยชน์ในด้าน 1.สามารถดึงเม็ดเงินจากการประมูลเข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 73,000 ล้านบาท 2.ก่อให้เกิดการลงทุนในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามมานับ 150,000 ล้านบาท 3.จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในช่วง8เดือนหรือถึงเดือนเมษายน 2559 อีกจำนวน 168,136 ล้านบาทและในช่วง5ปีถัดจากนี้ การลงทุนในเครือข่าย4จี จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว