นักวิทย์ตื่นตา พบ "ดาวทับซ้อน" คู่ใหม่ โคจรเข้าหากันจนเชื่อมต่อ
เว็บไซต์ scienceworldreport.com รายงานว่า คณะนักดาราศาสตร์นานาชาติประจำกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope ขององค์การแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยทางดาราศาสตร์ในท้องฟ้าซีกใต้ - European Southern Observatory หรือ ESO ค้นพบดาวซ้อน มีลักษณะเป็นดาวสองดวงที่เคลื่อนตัวเข้ามาชนจนเชื่อมต่อกัน
กล้องของ ESO ตรวจจับองค์ประกอบของดาวซ้อน หรือ ดับเบิล สตาร์ ในระบบดาว VFTS 352 ตั้งอยู่ภายในกลุ่มก๊าซสีขาวกลางหมู่ดาว หรือเนบิวลา ชื่อ ทาแรนทิวลา เป็นพื้นที่เพาะตัวของดาวเกิดใหม่ในจักรวาล และอยู่ห่างจากโลก 160,000 ปีแสง
นักดาราศาสตร์กล่าวว่า ดาวคู่นี้เป็นคู่ที่แปลกและน่าตื่นตะลึงที่สุดเท่าที่พบมา และจังหวะที่พบนี้อาจอยู่ในช่วงของการดับสูญแบบหายนะ เมื่อดาวสองดวงหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว หรือก่อหลุมดำในคราวเดียว
เลโอนาร์โด เอ. อัลเมดา ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษานี้ จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ในบราซิล กล่าวว่า ดาวซ้อน VFTS 352 เป็นดาวร้อน อุณหภูมิบนพื้นผิวสูงราว 40,000 องศาเซลเซียส มีมวลมหาศาลคือมากกว่าดวงอาทิตย์ราว 57 เท่า ดาวคู่นี้ ดวงหนึ่งโคจรรอบดาวของอีกฝ่ายโดยใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งวัน ถือเป็นดาวซ้อนที่ดีที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นการผสมผสานภายใน
ศูนย์กลางของดาวทั้งสองนั้นอยู่แยกจากกันในระยะ 12 ล้านกิโลเมตร ดาวลักษณะนี้มีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการของกาแล็กซีใหม่ บางครั้งจัดอยู่ในกลุ่มดาวแวมไพร์ จากการที่ดาวดวงเล็กกว่า ดูดเอาสสารจากผิวของดวงอีกดวง
"ถ้าดาวยังคงหมุนไปอย่างเร็ว มันอาจจะดับสูญในลักษณะระเบิดพลังสูงสุดออกมาในจักรวาล แบบการระเบิดของรังสีแกมมาในช่วงเวลานาน" ฮิวส์ ซานา หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งลิวเวิน ในเบลเยียม กล่าว