เปิดประสบการณ์ 31 เรื่องเล่า 'รถไฟในโตเกียว' ที่หลายคนอาจยังไม่รู้
เรื่องเล่าเกี่ยวกับ 'รถไฟในโตเกียว' อีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวยอดฮิตในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประสบการณ์ของคุณ 5tHbeaR จากเว็บไซต์ japankakkoii.com ที่จะมาเปิดแง่มุมของเขาที่ได้ไปประสบพบเจอมาด้วยตัวเอง ให้ผู้อ่านได้รู้จักเรื่องราวของรถไฟในโตเกียว ได้เห็นหลากหลายแง่มุมที่อาจจะไม่เคยได้รู้มาก่อน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นมากขึ้นด้วย!
เปิดประสบการณ์ 31 เรื่องเล่า 'รถไฟในโตเกียว'
ที่หลายคนอาจยังไม่รู้
cr.photo https://en.wikipedia.org/wiki/Yamanote_Line
1. รถไฟจะมาสายเกือบทุกวัน ในข้อนี้อาจจะมีหลายท่านแย้ง เพราะรถไฟญี่ปุ่นมีทั้งตัวเลข การตรวจสอบเรื่องการตรงเวลาให้เราได้เห็นกันเสมอ แต่เราไม่ได้หมายถึง การมาสาย ในทางตัวเลข หรือสถิติค่ะ ขออนุญาตยกตัวอย่างนะคะ เช่น คุณขึ้นรถไฟ เวลา 8:00 น. และจะถึงที่หมายในเวลา 8:15 น. แต่ว่า ถ้ารถไฟสาย คุณจะถึงที่หมายในเวลา 8:25 น. – 8:30 น. แต่ในขณะเดียวกันตัวเลขบนป้ายจะรันเวลาบนชานชาลาตลอด และเวลารถไฟมาถึงก็จะตรงกับเวลาที่บอกบนป้ายในชานชาลานั่นเอง แต่ว่าคนที่อยู่บนรถไฟจะรู้ว่า ขบวนนี้สาย… โดยเฉพาะ ชั่วโมงเร่งด่วน วันจันทร์ วันฝนตก ถึงแม้คุณจะขึ้นรถไฟเวลาเดียวกันทุกวัน แต่จะถึงที่ทำงานไม่เท่ากัน
2. ไม่มีกฏการห้ามทานอาหาร และเครื่องดื่มบนรถไฟ เคยเห็นคนญี่ปุ่นยกขวดน้ำขึ้นมาดื่มเหมือนกันค่ะ
3. หากมีคนกดปุ่มฉุกเฉินรถไฟจะหยุดทันที เพื่อตรวจสอบความผิดปกติตลอดทั้งขบวน
4. เวลารถไฟจะออกจากชานชาลาจะมีเจ้าหน้าที่เช็คทั้งหัว และท้าย รวมถึงตรงกลางของชานชาลาด้วย
5. ด้านนอกของประตูรถไฟทุกขบวน จะมีช่องเล็กๆ อยู่ตรงด้านล่าง ความสูงประมาณเข่า ของคนทั่วไปเพื่อเปิดประตูรถไฟจากด้านนอกในกรณีฉุกเฉิน
6. ระยะห่างของขอบชานชาลา กับประตูรถไฟ ห่างกันมาก พอจะทำให้ขาคุณตกลงไปได้ทั้งขา ต้องระวังกันด้วยนะคะ
7. ในหนึ่งชานชาลา จะอาจจะมีรถไฟ 2-3 ขบวน เข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกัน ฉะนั้นต้องดูสีประจำสาย รวมถึงเวลาออกของรถไฟ และรอประกาศด้วย
8. ห้ามกางร่มบนชานชาลา แม้ฝนจะตกก็ตาม (ตอนนี้เหมือนจะมีการห้ามไม้เซลฟี่ด้วย)
9. การเดินภายในเส้นเหลืองของชานชาลาเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่มีที่จะเดินแล้ว และคนรอ จะรอหลังเส้นเหลือง (ไม่มีรปภ.เป่านกหวีดให้สะดุ้งจนจะตกรางรถไฟ)
10. ดังนั้นเวลารถไฟจะเข้าชานชาลา จึงบีบแตรทุกขบวน แบบว่ารถมาแล้ว เลิกเดินได้แล้ว
11. เพลงสัญญาณการมาถึงของรถไฟในแต่ละสถานีไม่เหมือนกัน วันก่อนเจอเพลงคริสต์มาสด้วย (แต่จำไม่ได้ว่าสถานีไหน >///<)
รถไฟสาย Yamote Line
12. แม้จะเลยเที่ยงคืนก็ยังมีรถไฟวิ่ง รถไฟเที่ยวสุดท้ายจะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 23.00 น.-00.00 น.
13. ในรถไฟช่วงเช้าเราจะรักกันมากปานจะกลืนกิน ใกล้ชิดยิ่งกว่ากอดกันขยับไม่ได้ ส่วนในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนจะคับคั่งไปด้วยนักดื่มเต็มขบวน และกลิ่นก็ฟุ้งมาก ==”
14. และในรถไฟช่วงเช้า คุณอาจจะกลายเป็นเสาที่มีคนเมาพิง ประหนึ่งว่าเป็นแฟน หรือนอนซบคุณเลยทีเดียว
15. คุณจะเห็นคนเมาทุกรูปแบบบนรถไฟ ในช่วงเวลาพีคๆ ซึ่งก็คือ หลังเที่ยงคืน นั่นเอง
16. ในคืนวันศุกร์ นอกจากจะเห็นคนเมานอนตามสถานีแล้ว…คุณยังจะได้เห็นอ้วกคนเมาเป็นของแถมด้วย
17. ถ้าไม่อยากให้สาวญี่ปุ่นในอุดิมคติพังทลาย อย่ามองเธอหลับ หรือเมาขณะอยู่บนรถไฟ T T
18. ถ้าเจอคุณแม่กับคุณลูกขึ้นรถไฟ และมีที่นั่งเหลือแค่ 1 ที่ คุณแม่จะนั่ง และให้คุณลูกยืนเกาะเสาใกล้ๆ คุณแม่ก็จะมองอยู่ห่างๆ
19. คนที่ลุกให้เด็กนั่งก็มี เห็นอยู่บ่อยๆ นะคะ
20. ในชั่วโมงเร่งด่วน จะเห็นผู้หญิงโดนเบียด โดนผลักท่ามกลางชายร่างใหญ่ อาจจะรู้สึกไม่ดีแต่ก็มีให้เห็นทุกวัน
21. การขึ้นรถไฟแบบคนญี่ปุ่นคือ เดินเข้ารถแล้วกลับหลังหัน ไม่งั้นคุณอาจจะไปจุ๊บ หรือกอดกับใครซักคนด้านในก็ได้ เพราะเขาจะหันหน้าออกมาทางประตูกันทุกคน
cr.photo www.japanesesearch.com
สถานีรถไฟ JR Shinjuku
22. สถานีรถไฟชินจูกุ เป็นสถานีรถไฟศูนย์กลางของโตเกียวที่น่าจะยุ่งเหยิงที่สุดในโลก เป็นสถานีที่ใหญ่มาก และมีรถไฟผ่านที่นี่นับสิบสาย มีทางออกมากมาย ซึ่งอาจจะทำให้คุณเดินหลงได้ง่ายๆ
23. เวลาขึ้นบันไดเลื่อนในชานชาลาเดิมทีคือ 'ชิดซ้าย' แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น 'ชิดขวา' แล้ว แต่ทุกคนก็ยังคงเดินเหมือนเดิมตามความเคยชิน
24. ถึงแม้จะมีการรณรงค์เรื่องบันไดเลื่อน แต่ในสถานีรถไฟก็ยังใช้กันเหมือนเดิม นอกจากเวลาเดินห้างเท่านั้นที่จะไม่ยืนชิดด้านใดด้านหนึ่ง
25. เบาะที่นั่งบนรถไฟจะมีเครื่องทำความร้อนอยู่ใต้เบาะ หน้าหนาวมันดีมาก แต่หน้าร้อนก็อุ่นตูดแทบไหม้ =[]=!
26. คนขับรถไฟสาย Yamanote โดยเฉพาะช่วงบ่ายๆ อาจจะเจอคุณคนขับรถเมลสาย 8 แฮปปี้ยามาโนเทะแลนด์ด้วย ฮา…กระชาก กระตุก หัวทิ่ม มีทุกอย่าง
27. รถไฟบนดิน กับรถไฟใต้ดินจริงๆ สถานีอยู่ติดกัน แต่ใช้ชื่อสถานีคนละชื่อ และชื่อของรถไฟใต้ดินจะยากกว่าบนดินเสมอ เช่น สถานีที่ฮาราจูกุ บนดินเรียกว่า Harajuku Station (สาย JR) ส่วนใต้ดินเรียก Meiji-jingumae Station (สาย Tokyo Metro)
28. Tokyo Metro มี Wifi ฟรีให้ใช้ สัญญานแรงดีด้วย ในขณะเดียวกันของ JR East ก็มี เชื่อมต่อได้ แต่เล่นไม่ได้ ==”
29. ใครใช้บัตร Suica ถ้าเติมเงินนอกที่ตอกตั๋วจะเริ่มต้นที่ 500 เยน แต่ถ้าเติมภายในที่ตอกตั๋วจะเริ่มต้นที่ 1,000 เยน
30. นั่งรถไฟระยะสั้น สาย JR จะถูกกว่า (เริ่มต้นที่ 140 เยน) แต่ถ้านั่งระยะยาว รถไฟใต้ดินถูกกว่า
31. ค่าใช้จ่ายรถไฟในโตเกียว ถ้าเป็นรายเดือนอย่างต่ำก็ประมาณ 5,500 เยน
Cr.Photo: www.pinterest.com/pin/288441551109262793/