เผือกร้อนฟื้นฝอยหาตะเข็บ ระวัง! ลงเอยด้วยค่าโง่ซ้ำซาก
แล้วเผือกร้อนการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างทีโอทีกับคู่สัญญาเอกชน บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิสจำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” ก็ต้องไปจบลงที่กระบวนการอนุญาโตตุลาการภายหลังจากทีโอทีตัดสินใจยื่นโนติสไปยังบริษัทเอกชนคู่สัญญาเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยเพิ่มเติมจากความเสียหายในการแก้สัญญาสัมปทานครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 ที่นัยว่ายังความเสียหายแก่รัฐวงเงินกว่า 73,000 ล้านบาท
ขณะที่ฟากฝั่งของบริษัทเอกชนคู่สัญญาก็ออกโรงโต้ โดยยืนยันว่า การแก้ไขสัญญาตลอดช่วงที่ผ่านมาเป็นไปอย่างถูกต้องและด้วยความยินยอมร่วมกันทั้งสองฝ่าย บริษัทเองก็ยึดมั่นข้อผูกพันที่มีต่อกันมาโดยตลอดจนกระทั่งสิ้นสุดสัญญา จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมใดๆ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายรัฐยังคงยืนกรานที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จึงต้องส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการชี้ขาด (คดีดำเลขที่ 78/2558)
เป็นการยื่น “โนติส” ฉลองสิ้นสุดความร่วมมือที่มีต่อกันมาอย่างยาวนานถึง 25 ปี ซึ่งแทนที่จะเป็นการเปิดแชมเปญฉลองอย่างที่พันธมิตรธุรกิจโดยทั่วไป แต่ก็กลับต้องมาเปิดศึกห้ำหั่นฟ้องร้องกันก่อนจาก แทน ซึ่งทั้งทีโอทีและกระทรวงไอซีทีต้นสังกัดต่างก็อ้างว่า จำเป็นต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ได้พิพากษากรณีดังกล่าวเอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้
แม้หลายฝ่ายจะออกโรงเตือนทีโอทีให้ศึกษาบทเรียนกรณี “ค่าโง่คลองด่าน” 9,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้เพิ่งจะขอเรี่ยไรเงินจากทุกส่วนราชการให้ช่วยกันลงขันจ่ายให้แก่ผู้รับเหมาโครงการนี้ ทั้งที่กรณีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกอดีตนักการเมืองนับ 10 ปี จากการ “สุมหัว” กับข้าราชการและบริษัทเอกชนนำเอาที่ดินป่าชายเลนนับร้อยไร่มายัดไส้ผนวกให้เป็นสถานที่ตั้งโครงการ ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ชี้มูลความผิดอดีตนักการเมืองและข้าราชการผู้เกี่ยวข้องอีกนับสิบ ไม่แต่เท่านั้นศาลแขวงดุสิตยังมีคำพิพากษาให้จำคุกนักการเมือง ข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกันระนาวฐานสุมหัวฉ้อโกงรัฐแต่เมื่อนำกรณีพิพาทนี้เข้าสู่ชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผลวินิจฉัยชี้ขาดกลับสั่งให้กรมควบคุมมลพิษต้องจ่าย “ค่าโง่” ให้กับโครงการนี้กว่า 9,000 ล้านบาทไปเสียฉิบ!
แต่ฝ่ายบริหารทีโอทีก็ยังคงดั้นเมฆที่จะเดินหน้าไล่เบี้ยปมแก้ไขสัญญาสัมปทานสื่อสารที่ว่านี้ ด้วยข้ออ้างหากไม่ดำเนินการก็หวั่นจะงานเข้าเสียเอง
เมื่อย้อนรอยไปพิจารณาเส้นทางการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับคู่สัญญาเอกชนนับสิบ ไม่ว่าจะบริการโทรพื้นฐานและมือถือนั้น ทุกฝ่ายต่างประจักษ์ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐและเอกชนคู่สัญญามีการแก้ไขสัญญากันจนปรุแก้ไขกันจนพรุนในระยะ 15-20 ปีที่ผ่านมา บางสัญญามีการแก้ไขกันถึง 20 ครั้งกันเลยทีเดียว
การแก้ไขสัญญาเหล่านี้ดำเนินการโดยชอบหรือไม่ มีผลผูกพันคู่สัญญาหรือไม่ หรือจำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหรือไม่นั้น ที่จริงแล้วคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นไลน์เอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ต่อกรณีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมเหล่านี้ทั้งในส่วนของของทีโอทีและแคท
โดยระบุว่า แม้การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาโครงการเหล่านี้ไม่ได้นำเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกำกับตามมาตรา 22 นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามนัย พรบ.ร่วมทุนปี 2535 แต่อย่างไรก็ดีกระบวนการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมอันเป็นนิติกรรมทางปกครองสามารถแยกออกจากข้อตกลงต่อท้ายที่ทำขึ้นได้ และข้อตกลงต่อท้ายที่กระทำขึ้นยังคงมีผลอยู่ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอน
ซึ่งนั่นทำให้บรรดาโครงการที่มีการแก้ไขสัญญากันจนปรุ แก้ไขกันจนพรุนเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)หรือแคทไปดำเนินการแก้ไขสัญญากับดีแทคเพื่อยกฐานะของพันธมิตรทางการตลาดหรือ “เซอร์วิส โพรไวเดอร์” อย่างบริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี)และบริษัท ไวร์เลสคอมมิวนิเคชั่นเซอร์วิส (WCS) หรือทรูมูฟในปัจจุบัน ขึ้นมาเป็นโอปอเรเตอร์ผู้ให้บริการมือถือเต็มรูปแบบในปัจจุบัน รวมไปถึงการแก้ไขสัญญาอื่นๆ อีกนับสิบยังคงมีผลผูกพันอยู่
กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานมือถือ “ทีโอที-เอไอเอส” ที่ รมต.ไอซีทีตีปี๊บให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐฟ้องไล่เบี้ยความเสียหายเพิ่มเติมเอกชนคู่สัญญานี้ก็เช่นกัน ในเมื่อกระทรวงไอซีทีรู้อยู่เต็มอกว่าการแก้ไขสัญญาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย หาใช่บริษัทเอกชนไป “มัดมือชก” ให้คนของรัฐเซ็นสัญญา แถมสัญญาที่เซ็นนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุดต่างก็ “การันตี” ว่ายังคงมีผลผูกพันคู่สัญญาตราบเท่าที่ยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาระหว่างกันเสียอีก!
รัฐบาลและกระทรวงไอซีทีไม่กลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยค่าโง่คลองด่านหรือโครงการของรัฐอื่นๆ ที่เคยพาเหรดเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือ?