กระทิงแดงสปิริตดันชุมชนบ้านบางแตน ปราจีนบุรี ยกพลเกษตรกร 33 บ้าน ดูงานจากภาคีเครือข่ายเปิดประตูสู่ “เกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน”
มุ่งมั่นขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคม เรื่องความมั่นคงด้านอาหารมาหลายปี และปีนี้ได้เน้นเรื่องอาหารปลอดภัย ล่าสุดกระทิงแดงสปิริตเดินหน้าเต็มสูบจับมือสัญญากับเกษตรกรบ้านบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เตรียมตัวเป็นพี่เลี้ยง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรในพื้นที่ หันมาทำเกษตรอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิต จัดทำบัญชีครัวเรือน ปลดหนี้สะสม ระดมพลพาเกษตรกรไปศึกษาดูงานจากภาคีเครือข่ายอินทรีย์ตัวจริงจากทั่วประเทศแบบตัวต่อตัวกับ โครงการ “เกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน”
นายสมคิด รุจีปกรณ์ ผู้จัดการแผนกกิจกรรมเพื่อสังคมอาวุโสกลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เล่าถึงที่มาของโครงการเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืนว่า“เกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน”เป็นโครงการที่กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงมุ่งมั่นขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรบ้านบางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หลังจากที่กระทิงแดงได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศมาหลายปี ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้น จนมีภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่เข้มแข็งเราเองอยากบอกเล่า ส่งต่อรูปแบบและชี้แนวทางแห่งความสำเร็จให้เกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แก่ชุมชนบ้านบางแตนด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มธุรกิจกระทิงแดงจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงร่วมกับภาคีเครือข่ายของเรา ตอนนี้พี่น้องเกษตรกรบ้านบางแตนตบเท้าให้ความร่วมมือ เข้าร่วมโครงการมาแล้ว 33 ครอบครัวภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือเกษตรกรต้องรวมกลุ่ม จัดทำแผนกลุ่มวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ในชุมชนของตนเอง ที่สำคัญต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเกษตรอินทรีย์ 2 หลักสูตรจากกลุ่มภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของกระทิงแดง คือหลักสูตรที่ 1 พื้นฐานการทำเกษตรอินทรีย์และการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว กับมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี และหลักสูตรที่ 2 คือการจัดตั้งกลุ่มและการรับรองคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกยโสธร ที่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร”
ลงพื้นที่ สุพรรณบุรี เรียนรู้ “แยกยีนส์ข้าว” เพื่อหาสายพันธุ์พื้นบ้านแท้
เกษตรกรทั้ง 33 คนมุ่งหน้าสู่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านตัวจริง ของมูลนิธิข้าวขวัญที่สามารถผลิตข้าวอินทรีย์จำหน่ายได้ในราคาตันละ 20,000 บาท ในพื้นที่ชลประทานของจังหวัดโดย อ.สุขสรรค์ กันตรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของมูลนิธิข้าวขวัญ ได้บอกเล่าจากประสบการณ์ตรงว่า การคัดเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกเป็นปัจจัยเบื้องต้นสำหรับการสร้างความยั่งยืนผ่านสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ต้องพัฒนาให้ทนต่อโรค แมลง และสภาพภูมิประเทศแต่ละพื้นที่ โดยการคัดแยกยีนส์แฝงหรือสายพันธุ์ที่ปะปนในเมล็ดพันธุ์แท้และในวันนั้นเกษตรกรทุกคน ได้คัดเลือกเมล็ดพันธุ์แท้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับพื้นที่เพื่อนำไปพัฒนาทำพันธุ์ข้าวไว้สำหรับเพาะปลูกเป็นครั้งแรกโดยต้องสังเกตลักษณะเมล็ดที่เรียวเป็นมันวาว ผิวเรียบสม่ำเสมอ ตรงไม่บิดงอ และไม่มีท้องไข่เยอะเกินไป
นอกจากเรียนรู้เรื่องพันธุ์ข้าวพื้นบ้านแล้วยังได้เรียนรู้เรื่องการเตรียมดินให้มีความพร้อมสำหรับการเพาะปลูกเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของข้าว โดยการใช้ปุ๋ยพืชสด จุลินทรีย์ธรรมชาติที่เกษตรกรสามารถทำเองได้ ตลอดจนลงแปลงนาข้าวเพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตในนา ว่าชนิดไหนดีและชนิดไหนทำลายข้าวของเรา
“พลังกลุ่ม” กลไกขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ที่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร
หลักสูตรที่ 2 มุ่งหน้าสู่กลุ่มวิสาหกิจข้าวอินทรีย์เพื่อสังคม อ.กุดชุม จ.ยโสธร จังหวัดที่มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เข้มแข็งแห่งหนึ่งของเมืองไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมี พ่อบุญส่ง มาตขาว ประธานกลุ่มวิสาหกิจข้าวอินทรีย์เพื่อสังคมบ้านโนนยาง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร เล่าว่า“พ่อบุญส่งตัดสินใจหันมาใช้วิถีดั้งเดิมที่ปู่ย่าตายาย เคยทำมาพร้อมกับการหาความรู้แนวเกษตรอินทรีย์จากที่ต่างๆ เดิมทีในกลุ่มมีกันเพียง2-3 ครอบครัวปีแรกผืนนาอินทรีย์ให้ผลผลิตต่อไร่เพียง 200-250 กิโลกรัม/ไร่ ทุกวันนี้ผลผลิตของกลุ่มเพิ่มสูงถึง 500 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งยังให้กำไรจากราคาขายที่สูงขึ้นและยังมีตลาดรองรับชัดเจนจากความมั่นใจในกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยล่าสุดมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นในพื้นที่อ.กุดชุม 1,697 ครอบครัวมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งหมด 28,419 ไร่
นอกจากรับการชี้แนะจากปราชญ์ชาวบ้านอย่างพ่อบุญส่งและท่านอื่นๆ เกษตรกรทั้ง 33 คน ยังได้เรียนรู้ เรื่อง ระบบ PGS (Participatory Guarantee System) หรือ ระบบ "ชุมชนรับรอง" ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่ง เกษตรกรจะเป็นผู้รับรองกันเองในกลุ่มละแวกเดียวกัน สมาชิกกลุ่มจะหมุนเวียนไปตามพื้นที่ทำเกษตรของสมาชิก ไปเยี่ยมเยือนและตรวจรับรองพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไปพร้อมกัน
โดยระบบชุมชนรับรองนี้จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในระบบการตรวจรับรองมากกว่าระบบการตรวจรับรองแบบอื่นจากนั้นเกษตรกรทุกคนยังได้แบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้เรื่องอาชีพเสริม ของชาวกุดชุม โดยแบ่งออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 : โดนัทข้าว / ฐานที่ 2 : หมูอินทรีย์ / ฐานที่ 3 : เพาะเห็ด โดยทั้ง 3 ฐานเป็นกิจกรรมเพื่อให้เกษตรกรได้หันมาหารายได้เสริม ในช่วงระหว่างรอการเก็บเกี่ยวและดูวิธีการเก็บข้าว สีข้าว จากโรงสีข้าวอินทรีย์ของชุมชน บ้านกุดชุม เพื่อเป็นแนวทางกลับไปต่อยอดที่บางแตนต่อไป
“เกษตรอินทรีย์” แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของเกษตรกรบ้านบางแตน
นางประชิด ชลารักษ์หรือป้าจ้อย ชาวนาจากบางแตน ยิ้มอย่างมีความหวังหลังเรียนจนครบ 2 หลักสูตร เผยว่า “ในที่ดินของป้า มีปรับบางส่วนปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบไม่ใช้สารเคมี ปลูกไว้กินเอง เพราะป้ากินแล้วรู้สึกว่าร่างกายเราดีขึ้น เห็นราคาตลาดมันดีกว่าข้าวทั่วไปด้วย ก็อยากเพิ่มพื้นที่มาปลูกจริงจัง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อปลูกในนาเราแล้วจะได้ผลดีหรือเปล่าเพราะข้าวนี้ 120 วันเก็บเกี่ยวแต่ที่บางแตนปัญหามีทั้งเรื่องน้ำแล้ง ดินเปรี้ยว น้ำกร่อยและที่ป้าเริ่มหันมาสนใจเกษตรอินทรีย์ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยปลดหนี้จากการลดต้นทุนการผลิตลงได้คิดว่าเกษตรอินทรีย์น่าจะทำได้ เพราะเขาทำสำเร็จมาหลายที่แล้ว และพอป้าได้มาอบรมทั้ง 2 หลักสูตรกับกระทิงแดง ก็ยิ่งเห็นวิธีการต่างๆ รวมถึงรูปแบบที่เราต้องรวมกลุ่มที่ชัดเจนขึ้น ตอนแรกยังมีแต่คำถามเกิดขึ้นในใจ แต่ตอนนี้ป้าคิดว่าภาพมันเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว”
นายเชาว์ เที่ยงแท้ หรือกำนันเชาว์ สะท้อนความคิดที่ออกแรงชวนลูกบ้านเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “ตัวผมเองทำนาอยู่ 50 ไร่ ลูกบ้านมีปัญหาทำนาตลอด เรื่องน้ำแล้ง น้ำท่วม ดินเค็ม หนี้สินมากมาย อย่างปีไหนแล้งมากไม่มีน้ำทำนา เขาก็ไม่มีอาชีพเสริม แต่พอมาได้เห็นทั้งที่ข้าวขวัญสุพรรณบุรี และยโสธร กุ้งหอยปูปลาในนา มีอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ผักหญ้ามีให้เก็บ ระหว่างว่างก็สามารถตั้งกลุ่มแปรรูป หารายได้เสริมจากกิจกรรมอื่นๆ
หรือหาช่องทางขายข้าวอินทรีย์กับภาคีเครือข่ายได้ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปถึงชุมชนของตัวเอง เพราะเรามัวแต่รอพ่อค้าคนกลางมาตั้งราคารับซื้ออย่างเดียว เขาซื้อเท่าไหร่ก็ขายเท่านั้น บางทียังไม่ได้คิดค่าแรงตัวเองเลย สุขภาพก็แย่ลง ผมเลยคิดว่าเกษตรอินทรีย์นี่แหละจะช่วยผมและชุมชนของบ้านบางแตนได้”
นับจากนาทีที่ “กลุ่มเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืนบ้านบางแตน”” เกิดเป็นเค้าโครงที่ชัดเจนขึ้น คงต้องรอให้ช่วงเวลาได้ตกผลึกความคิดของสมาชิกในกลุ่มว่าจะขับเคลื่อนไปยังธงที่ปักไว้ด้วยวิธีการอย่างไร ภายใต้การสังเกต ดูแลอย่างใกล้ชิดของกลุ่มธุรกิจกระทิงแดงเพื่อพิชิตภารกิจ “เกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน” ให้กับบ้านบางแตนได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++