จากค่าโง่คลองด่าน....สู่สัมปทานเอไอเอส
เหลือบไปเห็นบทสัมภาษณ์ของ นายอุตตม สาวนายน รมต.ไอซีทีต่อกรณีตีปี๊บไล่บี้ให้บริษัททีโอทีเร่งยื่นโนติสต่อบริษัทแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส หรือเอไอเอสคู่สัญญาสัมปทานมือถือก่อนสัมปทานสิ้นสุดวันที่ 30 กันยา 58 เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 6 และครั้งที่ 7 และจากการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมวงเงินเบ็ดเสร็จกว่า 120,000 ล้านบาท
โดย รมต.ไอซีทีระบุว่าที่ต้องดำเนินการเรื่องนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามมติครม.และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีคำพิพากษากรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ยังความเสียหายแก่รัฐและการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชนหากไม่ปฏิบัติถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157
ขณะที่ในส่วนสัญญาสัมปทานของบริษัท กสท โทรคมนาคมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบริษัท ทรูมูฟ ที่ได้แก้ไขสัญญาด้วยนั้น ไอซีทียังไม่สามารถระบุได้ว่าจะดำเนินการหรือไม่เนื่องจากต่างกับกรณีเอไอเอสที่เร่งด่วนกว่าและครม.มีมติให้เร่งดำเนินการก่อนตามคำพิพากษา
อ่านแล้วก็ให้สะอึก...สะดุดกึกทันที!
เรื่องที่กระทรวงไอซีทีตีปี๊บให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐคือทีโอทีเร่งไล่เบี้ยความเสียหายเพิ่มเติมจากคู่สัญญาเอกชนเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอะไรนั้น ประชาชนคนไทยคงไม่อินังขังขอบอะไรด้วยหรอก แต่อยากตั้งข้อสังเกตสิ่งที่รัฐและกระทรวงไอซีทีกำลังดำเนินการอยู่นี้
เพราะเกรงว่าท้ายที่สุดแล้วมันจะจบลงด้วย “ค่าโง่”เอาอีก!
เพราะการที่ท่าน รมต.ไอซีทีระบุเองว่าที่ต้องให้ทีโอทีดำเนินการยื่นโนติสไปยังคู่สัญญาเอกชนคือเอไอเอสนั้นก็เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่มีคำพิพากษาเป็น“ธงนำ”เอาไว้ตั้งแต่ปีมะโว้จึงต้องดำเนินการให้เรื่องจบๆกัน ไปเพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนคู่สัญญาเอกชนคือบริษัทเอไอเอสก็มีสิทธิ์จะชี้แจงคัดค้านไม่เห็นด้วย และสุดท้ายเรื่องก็คงไปจบที่ศาลแพ่งซึ่งเป็นทางออกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ตรงนี้แหละที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก!
ท่าน รมต.ไอซีทีไม่เคยศึกษาบทเรียนกรณีค่าโง่คลองด่านที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้เพิ่งจะขอเรี่ยไรเงินจากทุกส่วนราชการให้ช่วยกันจ่ายค่าโง่กว่า 9,000 ล้านบาทเศษให้กับบริษัทเอกชนคู่สัญญากรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส) เลยหรือ?
กรณีค่าโง่ดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งได้เข้ามาพิจารณาเส้นทางความเป็นไปเป็นมาของโครงการนี้ที่มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำและบริษัทเอกชนที่สุมหัวกันเอาป่าชายเลนนับร้อยไร่มายัดไส้ผนวกให้เป็นสถานที่ตั้งโครงการ มีการฉ้อฉลรัฐหลอิกทำสัญญาก่อนจะมีคำพิพากษาให้จำคุกอดีตนักการเมือง 10 ปี ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ชี้มูลความผิดอดีตนักการเมืองและข้าราชการผู้เกี่ยวข้องอีกนับสิบ ไม่แต่เท่านั้นศาลแขวงดุสิตยังมีคำพิพากษาในคดีที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทย์ยื่นฟ้องอดีตนักการเมืองและคู่สัญญาเอกชนคือกลุ่ม NVPSKG (ชื่อเสียงเรียงนามมีใครบ้างนั้นไปหาเอาเอง) ฐานสุมหัวฉ้อโกงรัฐก่อนมีคำพิพากษาจำคุกผู้เกี่ยวข้องกันระนาวเสียด้วยซ้ำ
แต่เมื่อกรณีพิพาทนี้เข้าสู่การพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการ เพราะฟากฝั่งรับเหมาเอกชนที่เป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐนั้นเห็นว่าถูกบอกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อได้เข้าทำสัญญากับรัฐและดำเนินการก่อสร้างไปตามเงื่อนไขของสัญญาแล้วต้องได้รับค่าจ้างรับเหมาตามสัญญา จนนำมาซึ่งข้อพิพาทที่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ท้ายที่สุดผลการวินิจฉัยชี้ขาดที่ออกมาไม่เพียงจะทำให้กรมควบคุมมลพิษต้อง “ล้มทั้งยืน”ยังทำให้รัฐบาลไทยต้อง “เสียค่าโง่” ไปให้กับโครงการบ่อบำบัดคลองด่านนี้ร่วม 10,000 ล้าน จน ครม.ต้องมาขอเรี่ยไรเงินไปจ่ายค่าโง่กันราวขอทานและก็เช่นเดียวกับกรณีค่าโง่ดับเพลิง กทม. 6,800 ล้านบาทท่ามีเส้นทางความเป็นมาเป็นไปไม่แตกต่างกัน
กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานมือถือ”ทีโอที-เอไอเอส”ที่รมต.ไอซีทีกำลังตีปี๊บให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐฟ้องไล่เบี้ยความเสียหายเพิ่มเติมเอากับคู่สัญญาเอกชนอยู่นี้ก็เช่นกัน ก็ในเมื่อกระทรวงไอซีทีรู้อยู่เต็มอกว่าการแก้ไขสัญญาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย หาใช่บริษัทเอกชนไป “มัดมือชก”ให้คนของรัฐเซ็นสัญญา แถมสัญญาที่เซ็นนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุดต่างก็ “การันตี” ว่ายังคงมีผลผูกพันคู่สัญญาตราบเท่าที่ยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาระหว่างกัน
ไม่แต่เท่านั้น การแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ว่าก็หาใช่มีแต่กับบริษัทเอกชนรายนี้แต่บริษัททีโอที บริษัท กสท โทรคมนาคมหรือแคท และกระทรวงไอซีทีเองยังมีการดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมคู่สัญญาอื่น ๆ อีกนับสิบ บางสัญญานั้นดำเนินการแก้ไขไปก่อนเอกชนรายนี้เสียด้วยซ้ำ
ที่สำคัญท่าน รมต.ไอซีทีไม่ฉุกใจคิดอะไรบ้างเลยหรือว่าก่อนหน้านี้รัฐบาล คมช.ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่เคยตั้งคณะกรรมการคตส.ไล่ตรวจสอบสัมปทานอื้อฉาวโครงการนี้ ขณะที่กระทรวงไอซีทีก็มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบสัญญาสัมปทานเหล่านี้อย่างถึงพริกถึงขิงมาแล้ว แต่สุดท้ายกลับปล่อยให้สัญญาเหล่านี้เดินไปตามครรลองเช่นเดิม
ยิ่งภายหลังจากที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อต้นปี 2553 รัฐบาลของ “พ่อมาร์ค -นายอภิสิทธิ์ เวชชีชีวะ”คู่กัดรัฐบาลของ “นายใหญ่ดูไบ”ที่ตีปี๊บเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีมะโว้ก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบไล่เบี้ยสัญญานี้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายนี้อย่างถึงพริกถึงขิงมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลดังกล่าวก็นั่ง “เอามือซุกหีบ” ไม่ยอมยื่นโนติสหรือฟ้องร้องไล่เบี้ยเพื่อเรียกค่าเสียหายอะไรเอากับบริษัทเอกชน ยังคงทิ้งเรื่องให้คาราคาซังเอาไว้จนกลายมาเป็น “เผือกร้อน”ให้รัฐบาลปัจจุบัน!
กระบวนการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ แถมยังมีการนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่มีการแก้ไขสัญญาในลักษณะเดียวกันเช่นนี้ หากท้ายที่สุดบริษัทเอกชนยื่นเรื่องต่อศาลแพ่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมันต้องเดินไปสู่จุดนั้นอยู่แล้วเพราะกำหนดเอาไว้โต้ง ๆ ในสัญญาสัมปทาน
รัฐบาลและไอซีทีมั่นใจหรือว่ามันจะไม่จบลงด้วย “ค่าโง่”เอาอีก!
ยิ่งในกรณีนี้ รมต.ไอซีทียังออกมาระบุเองว่าในส่วนสัญญาสัมปทานของบริษัท กสท โทรคมนาคมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบริษัท ทรูมูฟ ที่ได้แก้ไขสัญญาด้วยนั้น ไอซีทียังไม่สามารถระบุได้ว่าจะดำเนินการหรือไม่ เนื่องจากต่างกับกรณีเอไอเอสที่เร่งด่วนกว่าและครม.มีมติให้เร่งดำเนินการก่อนตามคำพิพากษา
อ่านมาถึงจุดนี้ก็ให้ “สะอึกและอึ้งกิมกี่” แทน! ด้วยเกรงว่า ท้ายที่สุดแล้วมันจะจบลงด้วย “ค่าโง่อัปยศแสนล้าน” เอาอีก เฉกเช่นที่บริษัททีโอทีต้องพ่ายคดีพิพาทโครงข่ายสื่อสัญณาณทางไกล SDH กับบริษัท “คอม-ลิงค์” จนต้องจ่ายค่าโง่กว่า 3,500 ล้านบาทมาแล้ว ก็ด้วยจุดยืนและพฤติการณ์ “ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด” ของคนทีโอทีแบบนี้นี่แหละ!
ไม่รู้ทั่น รมต.ไอซีทีเกิดทันไหมคดีพิพาท “คอม-ลิงค์” ที่ว่านั่น?!!!