"ประยุทธ์" หารือ "เลขาUN" ยืนยันรบ.เดินตามโรดแมป คาดมีเลือกตั้งกลางปี60
วันที่ 27 ก.ย. เวลา 18.20 น. ณ ชั้น 27 อาคาร Secretariat สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ทั้งสองฝ่ายกล่าวยินดีที่ได้พบหารือกันอีกครั้งหลังจากได้พบกันที่เมืองเซนได ญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติที่เชิญให้มาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และรู้สึกยินดีกับการครบรอบการก่อตั้งสหประชาชาติเป็นปีที่ 70 ในปีนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันถึงพันธกรณีที่ไทยมีต่อสหประชาชาติ พร้อมสนับสนุนการทำงานของเลขาธิการฯ และแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างแข็งขันต่อไป ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังเห็นพ้องในคำแถลงในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 58 ของเลขาธิการสหประชาชาติว่า แม้สหประชาชาติจะประสบความสำเร็จในหลายด้าน แต่ยังคงมีความท้าทายใหม่ๆ ที่ต้องการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหา
โดยเฉพาะการระดมทุนอย่างสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนา การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการจัดเก็บสถิติ และการเชิญชวนภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในงานพัฒนา ไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวปฏิบัติที่ดีในสาขาที่ไทยเชี่ยวชาญ อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของประชาคมโลกร่วมกัน ขณะนี้ไทยกำลังจัดทำ INDCs (Intended Nationally Determined Contributions) ในเรื่องของการกำหนดอัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้หารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ จากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะสามารถเสนอร่างให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติพิจารณาได้ในไม่ช้านี้ ทันการนำเสนอ UNFCCC ภายในเดือนตุลาคมนี้
การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หลังจากที่มีการรับรองกรอบการดำาเนินงานเซนได ไทยได้จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ได้ขับเคลื่อนกรอบการดำเนินงานฯ สู่แผนปฏิบัติการในระดับประเทศ
การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 58 ไทยจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 20 ประเทศ รวมถึงผู้แทนจาก IOM UNHCR และ UNODC เอกอัครราชทูตและอุปทูตที่ประจำการในไทยประมาณ 40 ประเทศเข้าร่วม โดยที่ประชุมเห็นพ้องถึงความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์ในปัจจุบันที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนบนพื้นฐานของการแบ่งเบาภาระและความรับผิดชอบร่วมกันเนื่องจากเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน หลายมิติ โดยที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ อาทิ มาตรการเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ตกค้างอยู่กลางทะเล การป้องกันการโยกย้ายถิ่นฐาน แบบไม่ปกติ การลักลอบขนคน และการค้ามนุษย์ และการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ประเทศต้นทาง
ขณะที่สถานการณ์การเมืองไทย นายกรัฐมนตรียืนยันว่า การดำเนินการต่างๆ ตามกรอบระยะเวลา (Roadmap) นั้นเป็นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมไทย และเพื่อให้ไทยได้ทำหน้าที่สมาชิกสหประชาชาติได้อย่างเต็มศักยภาพยิ่งขึ้น และจากการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ คสช. จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 180 วัน และจัดให้มีการลงประชามติ ซึ่งหากประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ก็จะดำเนินการยกร่างกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560
การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวร UNSC วาระปี ค.ศ. 2017-2018 ของไทย โดยไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC มาแล้วสมัยหนึ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1985-1986 ในการสมัครครั้งนี้ ไทยได้รับการรับรองและสนับสนุนจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการรณรงค์ของไทยมีพื้นฐานจากการทำงานที่ดีในงานทั้ง 3 ด้านของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในประเด็นสันติภาพและความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ไทยสามารถทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานเชื่อม และสนับสนุนการทำงานร่วมกันมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ และประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก