ถึงแม้ “จิต” ไม่เห็น แต่ “สมอง”สามารถเห็นได้
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแอริโซนาเผยว่าว่า สมองประมวลผลและเข้าใจภาพบางอย่างที่เราอาจจะไม่เคยเข้าใจด้วยจิตสำนึกเลย
เจย์ ซานกูอิเนตติ นักศึกษาระดับปริญญาเอก แห่งภาควิชาจิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแอริโซนา ได้เผยแพร่งานวิจัยนี้ในวารสารวิชาการ Psychological Science แล้ว นับเป็นการท้าทายแบบจำลองเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลการมองเห็นของมนุษย์ที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน
ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับคำสั่งให้ดูภาพซิลูเอ็ตต์ ซึ่งบางภาพก็มีความหมาย เป็นภาพของเงาของวัตถุจริงที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่สีขาวที่เป็นฉากหลัง
ซานกูอิเนตติทำการศึกษาคลื่นสมองของผู้เข้าร่วมการทดลองในขณะที่ดูภาพเหล่นั้นโดยใช้ Electroencephalogram หรือ EEG
“เรากำลังสงสัยว่า สมองประมวลผลความหมายของภาพที่ซ่อนอยู่ในภาพซิลูเอตต์เหล่านี้หรือไม่ ถ้าถามให้ละเอียดก็คือ ‘สมองประมวลผลรูปร่างที่ซ่อนอยู่จนตีความหมายออกมาได้จริงๆ หรือไม่ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มองเห็นภาพเหล่านั้นด้วยจิตรู้สำนึก’ “ซานกูอิเนตติอธิบาย
และคำตอบที่ซานกูอิเนตติได้คือ “ใช่”
ในการศึกษาคลื่นสมองของผู้เข้าร่วมการทดลองนั้นพบว่า แม้ว่าคน ๆ หนึ่งจะไม่ได้รับรู้ด้วยจิตรู้สำนึกเลยว่า รูปร่างของภาพที่เห็นเป็นอย่างไร แต่สมองก็ยังประมวลผลรูปร่างจนถึงระดับของความเข้าใจความหมายของมันได้
“มีข้อมูลสมองบางอย่างที่บ่งบอกว่ามีการประมวลผลความหมาย” ซานกูอิเนตติเผย โดยชี้ว่า มีจุดยอดของคลื่นสมองที่เรียกว่า N400 ที่บ่งบอกว่า สมองมีการรู้จำวัตถุและนำไปเชื่อมโยงกับความหมายบางอย่างจริง
“มันเกิดขึ้นประมาณ 400 มิลลิวินาทีหลังจากที่เราแสดงภาพออกไป หรือคิดเป็น น้อยกว่าครึ่งวินาที เมื่อเราดูที่คลื่นสมอง พวกมันจะกระเพื่อมเหนือและใต้เส้นฐาน ค่าลบใต้เส้นฐานเราเรียกว่า N ส่วนค่าบวกเหนือเส้นฐานเราเรียกว่า P ดังนั้น N400 ก็มีความหมายว่า เป็นคลื่นลบที่มีเกิดขึ้น 400 วินาทีหลังจากที่แสดงภาพออกไป” ศาสตราจารย์ ปีเตอร์สัน แห่งโครงการ Cognitive Science ของมหาวิทยาลัยแอริโซนา ที่ปรึกษานักวิจัยในการศึกษาครั้งนี้อธิบาย
การพบยอดคลื่น N400 นี้บ่งบอกว่า สมองมีการรับรู้ความหมายของรูปร่างที่อยู่รอบรูปภาพได้
“ผู้เข้าร่วมการทดลองในการทดลองของเราไม่เห็นรูปร่างที่ครอบอยู่ด้านนอก แต่ว่า ข้อมูลจากสมองบอกเราว่า มีการประมวลผลความหมายของรูปร่างนั้นอยู่ แต่ถ้าความหมายของรูปร่างที่ตีออกมานั้นขัดกับการรับรู้ด้วยจิตรู้สำนึก เราก็เราไม่รับรู้ความหมายที่สมองตีความมาได้” ศาสตราจารย์ ปีเตอร์สัน อธิบายเพิ่มเติม
“นอกจากนี้ ในการทดลองควบคุม เราได้ใช้ภาพซิลูเอตต์แบบใหม่ ซึ่งเป็นภาพของรูปร่างสีดำอยู่ตรงกลางและไม่มีความหมายใดๆ” ซานกูอิเนตติเผย
นักวิจัยพบวา ไม่สามารถพบคลื่น N400 จากกลุ่มตัวอย่างที่ได้เห็นภาพซิลูเอตต์แบบใหม่ ซึ่งมีความหมายว่า สมองไม่สามารถรู้จำความหมายของภาพได้ เพราะไม่ใช่ภาพที่มีความหมายตั้งแต่แรกอยู่แล้วนั่นเอง
“นี่เป็นเรื่องใหญ่ เราได้หลักฐานที่ว่าสมองประมวลผลรูปร่างและความหมายที่ซ่อนอยู่ในรูปซิลูเอตต์อย่างไร จากที่เราได้แสดงให้เห็นด้วยข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการทดลองของเรา” ศาสตราจารย์ ปีเตอร์สัน อธิบายเพิ่มเติม
ทางด้านซานกูอิเนตติก็เชื่อว่า การค้นพบนี้จะนำไปสู่การตั้งคำถามว่า สมองประมวลผลความหมายของรูปร่างอย่างไร เมื่อคนเราไม่ได้รับรู้รูปร่างนั้นด้วยจิตรู้สำนึกเลย
“ถ้าคุณไม่ได้เห็นวัตถุ แล้วทำไมสมองจึงได้เสียทรัพยากรไปจำเป็นจำนวนมากกับการประมวลผลต่างๆจนถึงระดับของความเข้าใจภาพ”
“มีทฤษฎีหลายทฤษฎีที่เชื่อว่า นี่เป็นเพราะสมองมีพลังในการประมวลผลสูงมาก และสมองก็จะประมวลผลเฉพาะส่วนที่จิตรู้สำนึกรับรู้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมองต่างหากที่เป็นผู้ตัดสินใจว่า อะไรที่คุณจะรับรู้ และมันก็ประมวผลข้อมูลทุกอย่างที่ได้รับมาจากภาพ จากนั้นก็ค่อยระบุว่าอะไรคือการตีความภาพนั้นที่ดีที่สุด”
“นี่คือสิ่งที่จะบอกว่า สมองกำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา สมองอาจจะมองเห็นว่าภาพๆ นี้อาจจะเป็นไปได้หลายอย่าง แต่ก็จะเลือกการตีความที่ดีที่สุดออกมาอันเดียว การตีความบางทีก็ขึ้นกับสถานการณ์ด้วย”
ในอนาคต ศาสตราจารย์ปีเตอร์สันและซานกูอิเนตติมีแผนจะศึกษาว่า สมองส่วนไหนที่ทำให้กระบวนการตีความหมายนี้เกิดขึ้น
“เราพยายามจะศึกษาดูว่า สมองส่วนใดที่มีคส่วนเกี่ยวข้อง EEG บอกเราว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นและบอกเราว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่มันไม่ได้บอกเราว่ามันเกิดขึ้นที่ส่วนไหนของสมอง”
“เราอยากจะรู้ลึกเข้าไปข้างในและเข้าใจว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร”