ชีวิตยอมจำนน!!! ปริญญา 4 ใบไม่ช่วยให้พ้นงานโกยขยะ เพียงเพราะเขาวรรณะ ‘จัณฑาล’
คำเปรียบเปรยที่ว่าชีวิตคนเราเหมือนดอกบัว ที่แม้จะเกิดจากโคลนตม แต่ก็สามารถพัฒนาตัวเองออกจากโคลนตมโผล่ขึ้นมาอยู่เหนือผิวน้ำได้ คงจะใช้ไม่ได้กับชีวิตคนผู้คนส่วนใหญ่ในอินเดีย โดยเฉพาะกับ นายสุนิล ยาดาฟ (Sunil Yadav) หนุ่มอินเดียวัย 36 ปี ชาวนครมุมไบ สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยได้รับปริญญาบัตรจากการเรียนถึง 4 สาขาวิชาด้วยกัน หนึ่งในนั้นเป็นปริญญาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง เช่น สถาบันสังคมศาสตร์ทาทา (TISS) และกำลังศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตด้วย
...ทว่าการศึกษาระดับสูงทั้งหมดนี้ ไม่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเขา ให้พ้นจากการเป็นคนเก็บขยะและทำความสะอาดตามถนนหนทางได้แต่อย่างใด
เว็บไซต์บีบีซี (www.bbc.com) นำเสนอเรื่องราวชวนให้หดหู่ใจนี้ โดยระบุว่าเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่าในบัตรประจำตัวประชาชนของนายสุนิลนั้น ระบุไว้ว่าเขาเป็นคนวรรณะต่ำระดับ "จัณฑาล" กลุ่มที่ยึดอาชีพทำความสะอาดสิ่งสกปรกโสโครกตามท้องถนนและท่อระบายน้ำด้วยมือเปล่า โดยอาชีพนี้จะสืบทอดตามสายเลือดจากพ่อไปสู่ลูก ทั้งยังถูกรังเกียจและเลือกปฏิบัติจากคนทั่วไป ดังนั้นนายสุนิลและคนวรรณะต่ำอีกจำนวนมากจึงไม่สามารถจะหางานอื่นที่ดีกว่านี้ทำได้ แม้จะได้รับการศึกษาสูงก็ตาม
"...คนทั่วไปมองเราอย่างรังเกียจ เหมือนกับนกแร้งที่คอยเก็บกินซากสกปรก.." สุนิลตัดพ้อในโชควาสนาตัวเอง
ก่อนหน้านี้ เขาเคยพยายามสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลด้านสวัสดิการของคนวรรณะต่ำ รวมทั้งขอเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอด โดยบริษัทเทศบาลมหานครมุมไบซึ่งเป็นนายจ้างปัจจุบันของเขา อ้างว่าไม่สามารถขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่งให้ได้ เพราะติดขัดปัญหาทางเทคนิค ประกอบกับนายสุนิลนั้นไม่สามารถสอบผ่านตามคุณสมบัติของตำแหน่งที่เขาสมัคร ไม่ใช่ว่าจะมีการกีดกันเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม นายสุนิลยืนยันว่า มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นแน่นอน โดยก่อนหน้านี้แม้แต่การขอลาไปเรียนต่อก็ถูกขัดขวาง โดยทางบริษัทบอกเขาว่า ไปเรียนก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา และเกรงว่าหากอนุมัติให้เขาลาเรียนต่อ คนงานอื่นในตำแหน่งนี้อีกราว 28,000 คนก็จะเอาเป็นแบบอย่างด้วย นายสุนิลต้องประท้วงทางบริษัทอยู่เป็นเวลานานจึงได้ไปเรียนในช่วงเวลากลางวัน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางคืนเขาต้องกลับมาทำงานขนขยะไปด้วย
แม้จะมีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนวรรณะต่ำ และกฎหมายห้ามการจ้างงานคนทำความสะอาดท้องถนนด้วยมือเปล่าแบบนี้แล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในอินเดียก็ดูจะหย่อนยานเต็มที บรรดาเทศบาลต่างๆ ยังคงอาศัยการจ้างงานคนจัณฑาลที่ต้องเก็บขยะและของเสียต่างๆ ตามท้องถนนแม้แต่อุจจาระด้วยมือเปล่า เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานแพงและไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดราคาสูง
ยังคงอาศัยการจ้างงานคนจัณฑาลที่ต้องเก็บขยะและของเสียต่างๆ ตามท้องถนนแม้แต่อุจจาระด้วยมือเปล่า เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานแพงและไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาดราคาสูง
เมื่อมีคนถามนายสุนิลว่า ในเมื่อนายจ้างไม่ยอมขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่งให้เขา เหตุใดจึงไม่ลาออกไปทำงานที่อื่นเสีย? เขาตอบว่าถึงลาออกไปก็อาจต้องเจอกับการกีดกันครั้งใหม่ นอกจากนี้แล้วเขาจะต้องเสียบ้านสวัสดิการที่อยู่กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อของเขาด้วย โดยในเมืองที่อสังหาริมทรัพย์มีราคาแพงลิบลิ่วอย่างมุมไบนี้ การหาบ้านอยู่ไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาและเพื่อนร่วมงานวรรณะต่ำคนอื่นๆต้องอดทนกันต่อไป
“...เทศบาลทำกับเราเหมือนกับทาส..” นายสุนิลกล่าวย้ำ