นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไม…เราไม่ควรนำมือถือไว้ในห้องนอน
เครื่องมือสื่อสารอย่างมือถือชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าควรจะต้องไว้ให้ใกล้มือมากที่สุด แต่เอาเข้าจริงๆ มือถือเป็นอุปกรณ์ที่แฝงอันตรายมากกว่าที่เราจะนึกถึง โดยเฉพาะเวลานอน ถ้านำมือถือไว้ไกลตัวมากเท่าไรจะยิ่งปลอดภัยกับสุขภาพร่างกายมากเท่านั้น
-
แสงสีฟ้าจากมือถือหยุดยั้งการทำงานของเมลาโทนินได้
เครื่องมือสื่อสารและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดจะผลิตแสงสีฟ้า (Blue Light) ออกมาด้วยการทำงานของตัวมันเองเป็นปกติอยู่แล้ว ทว่าแสงสีฟ้าที่ว่านี้ก็ได้ถูกค้นพบโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้วว่า แสงสีฟ้าจากสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, ทีวี, คอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ก หรือแม้แต่หลอดไฟ LED เป็นตัวการที่ระรานฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่คล้ายนาฬิกาธรรมชาติในร่างกายของเรา อีกทั้งยังเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนอย่างถูกจังหวะเวลา ดังนั้นเมื่อมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ในห้องนอนก็จะทำให้เรานอนหลับไม่สนิท นอนหลับดึกกว่าที่ควรจะเป็น จนส่งผลกระทบมาถึงสุขภาพเหมือนลูกโซ่
-
ความยั่วยวนให้เล่นต่อ จนนอนไม่หลับ
นักวิจัยชาวนอร์เวย์ค้นพบว่า อุปกรณ์สื่อสารและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีเสน่ห์เย้ายวนใจจนทำให้ผู้เล่นวางไม่ลง อีกทั้งแสงสว่างหน้าจอ รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารที่เราอ่านผ่านจอสี่เหลี่ยมยังอาจทำให้สมองตื่นตัวจนลืมความรู้สึกง่วงงุน โดยเฉพาะถ้าเล่นก่อนนอน สไลด์นิ้วไปมาไม่ดูเวลารู้ตัวอีกทีก็เกือบเช้าแล้ว และสำหรับคนที่อ่อนไหวต่อเสียงเตือนของสมาร์ทโฟนมากๆ แบบที่ต้องตื่นมาเช็กโทรศัพท์เป็นระยะ นิสัยนี้อาจทำให้สร้างความเคยชินจนกลายเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง
-
น้ำหนักขึ้นไม่รู้ตัว
อย่างที่บอกว่าสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสาเหตุที่ทำให้เรานอนไม่หลับ และการนอนไม่หลับก็เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เราอ้วนขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยทั้งนี้ก็มีผลการวิจัยยืนยันจากทั้งสถาบัน One childhood, Brigham Young University และสถาบันการพยาบาลที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบไปถึงการทำงานของเมตาบอลิซึม ทำให้เมตาบอลึซึมเกเรไม่ยอมเผาผลาญแคลอรีอย่างเต็มความสามารถเหมือนอย่างที่เคย อีกทั้งยิ่งนอนดึกมากเท่าไรก็เท่ากับมีเวลาให้กินอาหารมากขึ้นเท่านั้น แล้วอย่างนี้จะไม่อ้วนยังไงไหว
-
นอนดึกตื่นสายอันตรายกว่าที่คิด
ผลสำรวจจาก NSF พบว่า กลุ่มเด็กอาสาที่พกสมาร์ทโฟน, แท็บเลต และโน๊ตบุ๊กเข้าห้องนอนด้วย มีสถิติการนอนหลับสั้นกว่ากลุ่มเด็กอาสาที่ไม่พกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปนอนด้วยทั้งนี้ผลการวิจัยก็พบสัญญาณสุขภาพที่ไม่ค่อยดีเท่าไรกับกลุ่มเด็กที่พักผ่อนไม่เพียงพอ โดยเขาเหล่านี้มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำที่ด้อยประสิทธิภาพลง ศักยภาพในการตัดสินใจหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งยังพบความเหนื่อยล้าง่วงงุนในระหว่างวัน และสัญญาณสุขภาพที่น่าเป็นห่วงอีกหลายประการ
-
อยู่บนเตียงแต่ไม่ยอมนอนจะยิ่งนอนหลับยาก
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพการนอนหลับแนะนำให้ใช้เตียงนอนเพื่อนอนหลับพักผ่อนอย่างเดียวเท่านั้น หรือหากลองนอนไปแล้วสักพักแต่ตายังสว่าง ให้ลุกจากเตียงมาอ่านหนังสือหรือฟังเพลงจนรู้สึกง่วงอีกครั้ง แล้วค่อยกลับไปนอน และอย่าหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาแชทหรือเปิดทีวีดูเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้นอนจนเกือบสว่างแน่ๆ
สมาร์ทโฟนจะไม่เป็นอันตรายหากเราใช้ให้เป็นและใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นไม่อยากเสี่ยงป่วยไข้หรือมีสุขภาพที่แย่ลงก็ควรทำตามนี้นะครับ