การเมืองของพระ
พุทธศาสนามหายานต่างจากพุทธศาสนาเถรวาทอย่างไร
การเฟ้นหาความต่างนี้เพื่อความรู้ ไม่ใช่เพื่อสร้างความไม่พออกพอใจต่อกันและกัน ทั้งมหายานและเถรวาทต่างก็มีสายเลือดอันเดียวกัน พิสูจน์ได้จากหลักคำสอนที่เป็นแกนหลักสำคัญ เช่น อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท ความหลุดพ้น พระโคตมพุทธเจ้า จะมีความแตกต่างกันก็แต่เพียงปลีกย่อย ไม่ใช่สารัตถะสำคัญ เปรียบเหมือน พี่น้องท้องแม่เดียวกันเมื่อเจริญวัยต่างคนต่างไป ทำกิจการงานต่างๆ ย่อมมีวีธีการ และรสนิยมในการดำเนินชีวิตเพื่อความอยู่รอดที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นพี่เป็นน้องเป็นสายเลือดเดียวกัน ย่อมจะตัดขาดจากกันไม่ได้ ต่อไปนี้ขอนำข้อคิดเห็นของบูรพาจารย์ที่ท่านแสดงให้เห็นความแตกต่างๆ ระหว่าง 2 นิกาย ดังต่อไปนี้
1. นิกายมหายานเป็นนิกายที่มีหลักปฏิบัติเพื่อช่วยมหาชนให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงตนเอง ในบางครั้งชาวมหายานอาจจะต้องยอมตกนรก ถ้าหากว่าการกระทำนั้น ๆ จะเป็นการช่วยชีวิตของสรรพสัตว์ไว้ได้ เถรวาทไม่ม่มีคำสอนในลักษณะนี้
2. มหายานจะไม่รีบด่วนไปสู่ความดับทุกข์จนกว่าจะช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ดังนั้น ชาวมหายานจึงมีปณิธานที่ว่า “ หากยังมีสัตว์ที่ต้องตกทุกข์ได้ยากอยู่ก็จักไม่ขอปรารถนาบรรลุพุทธภูมิ ” ส่วนนิกายเถรวาทต้องการการหลุดพ้นจากวัฏฏะทุกข์อย่างรีบด่วน
3. นิกายมหายานเชื่อว่าหลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว พระองค์ยังคงมีอยู่และรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในโลกนี้ และจะเสด็จกลับมาสู่โลกนี้อีกเพื่อโปรดสรรพสัตว์ นิกายเถรวาทปฏิเสธเรื่องราวของพระพุทธองค์หลังปรินิพพานว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่
4. นิกายมหายานเชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายมีจิตเป็นสากล หรือพุทธภาวะที่แจ่มจรัสปราศจากกิเลส ส่วนนิกายเถรวาทไม่ยอมรับในเรื่องนี้
5. มหายาน มองพระพุทธพจน์ในแง่ปรัชญา วิพากษ์วิจารณ์ความหมายพระพุทธพจน์ไปในแง่ต่าง ๆ ตามความคิดของบุคคลแต่ละบุคคล ปรับปรุงธรรมวินัยไปตามกาลเทศะ เพื่อความเหมาะสมแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์แก่ พระพุทธศาสนา มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีน แล้วใช้ต้นฉบับนั้นเป็นหลัก
เถรวาท ยึดมั่นอยู่ในธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามแบบเดิมตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนา ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยกพระธรรมวินัยไว้ในฐานะอันสูงส่งและศักดิสิทธิ์ แม้พระไตรปิฎกก็ไม่เปลี่ยนแปลง คงรักษาของเดิมซึ่งเป็นภาษามคธเอาไว้เป็นหลักเป็นธรรมนูญของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ใครจะแปลเป็นภาษาอะไรก็แปลไป แต่ไม่ทิ้งของเดิมคงรักษาของเดิมภาษามคธเป็นหลัก
6. มหายาน ตั้งบุคคลเป็นแกนกลางคำนึงถึงสติปัญญาความคิดความรู้และความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์ แทนที่จะปรับบุคคลให้เข้าหาพระพุทธพจน์ แต่ปรับพระพุทธพจน์เข้าหาบุคคล เพื่อประโยชน์แก่การเผยแพร่พระพุทธศาสนา ผ่อนปรนจนบางนิกายอนุมัติให้พระสงฆ์มีครอบครัวได้ เพื่อประโยชน์ทางการเผยแพร่ เถรวาทตั้งพระพุทธพจน์เป็นแกนกลาง แล้วดึงบุคคลให้เข้าหาพระพุทธพจน์ โดยอ้างเหตุผลเป็นเครื่องจูงใจ
7. มหายาน ตั้งเป้าหมายไว้ง่าย ๆ โดยใช้หลักจิตวิทยาชั้นสูงจูงใจคนคือ ปรับพระพุทธพจน์ให้เข้ากับบุคคล ให้คนทั่วไปมีความรู้สึกว่าพุทธภาวะนั้นอยู่แค่เอื้อม เพราะมีอยู่ในทุกคนแล้ว ดังนั้นบุคคลทุกเพศทุกวัยก็อาจบรรลุพุทธธรรมได้ โดยไม่ต้องอาศัยวิธีที่ยากมากหรือการปฏิบัติมากนัก
เถรวาทตั้งเป้าหมายและวิธีเพื่อบรรลุเป้าหมายไว้สูงและยาก ต้องอาศัยความตั้งใจจริง ๆ จึงจะกล้าดำเนินการตามเป้าหมายและบรรลุตรงเป้าหมายนั้น ทำให้สามัญชนโดยทั่วไปมองพระพุทธศาสนาในสิ่งสูงสุดยากที่จะเข้าถึง
8. มหายาน ถือ ปริมาณเป็นสำคัญ โดยถือว่า คุณภาพย่อมเกิดจากปริมาณโดยตั้งสมมติฐานไว้ว่า ในจำนวนผู้ศึกษา หรือใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากนั้น ย่อมจะมีอยู่จำนวนหนึ่งที่เข้าถึงพุทธธรรม และย่อมรู้แจ้งเห็นจริงในพุทธธรรมเองได้ เถรวาทมุ่งที่ปัจเจกภาพหรือคุณภาพเฉพาะบุคคล คือ เริ่มที่ตนแล้วจึงไปหาผู้อื่น หมายถึงว่าเถรวาทถือคุณภาพเป็นสำคัญ
9. เกี่ยวกับอุดมคติในการดำเนินงาน การเผยแพร่เถรวาทมุ่งที่ตนเองก่อน คือตนเองต้องรู้ก่อนแล้วจึงสอนจึงช่วยผู้อื่น มิฉะนั้นจะนำอะไรไปช่วยเขาเมื่อตนเองยังไม่มีอะไร ยังไม่รู้อะไร
มหายาน วางอุดมคติจูงใจไว้ก่อนว่าต้องบำเพ็ญตนเพื่อผู้อื่นก่อน เพื่อตนเองทีหลัง มีปณิธานว่า
จะช่วยขนสัตว์ให้พ้นโอฆสงสารบรรลุธรรมจนหมดสิ้นก่อน ตนจึงขอบรรลุธรรมเป็นคนสุดท้าย
10. .ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีพระสงฆ์เป็นแกนกลางในการยึดมั่นของประชาชน พระสงฆ์จรรโลงพระพุทธศาสนา เป็นผู้นำ พุทธบริษัทอื่นเป็นผู้ตาม
ในฝ่ายมหายาน ศูนย์กลางของการนับถือมิได้มีจำกัดในคณะสงฆ์เท่านั้น คนทุกคนมีส่วนจรรโลงพระพุทธศาสนา เหตุผลคือ พระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายานจะมีทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ ช่วยกันประกาศพระพุทธศาสนา
11. เถรวาท ถือเรื่องอริยสัจเป็นสำคัญ มหายานถือเรื่องบารมีเป็นสำคัญ เพื่อความเป็นพระโพธิสัตว์
12. เถรวาท มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว คือ พระสมณโคดม หรือ พระศากยมุนี มหายาน ถือว่าพระพุทธเจ้ามีมาก ประดุจเม็ดกรวดทรายในมหาสมุทร ( เพื่อจูงใจให้คนพอใจปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ให้เห็นว่า ไม่ยากจนเกินไปจนน่าท้อ ) บางนิกายแสดงว่ามีพระพุทธเจ้าองค์ดั้งเดิมคือ อาทิพุทธ ( ดุจปราตมันของพราหมณ์ ) เมื่อ อาทิพุทธพุทธเจริญญาณ เกิดเป็น ฌานิพุทธ คือพระพุทธเจ้าเกิดจากฌานของอาทิพุทธอีกเป็นอันมาก เช่น พระไวโรจนพุทธะ อักโขภยพุทธะ อโฆสิทธิพุทธะ รัตนสัมภวพุทธะ ไภสัชชคุรุพุทธะ อมิตตาภาพุทธะ เป็นต้น เฉพาะ อมิตตาภะพุทธะนี้ เมื่อเป็นมานุสสีพุทธ คือเป็นพระพุทธเจ้าในร่างมนุษย์ ( อวตาร ) ก็คือ พระศรีศากยมุนีพุทธนั่นเอง
13. เถรวาท มีความมุ่งหมายเพื่อบำเพ็ญอัตตัตถาจริยา คือ ประโยชน์ส่วนตน ญาตัตถจริยาประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ โลกัตถจริยา คือ ประโยชน์ต่อสัตว์โลก โดยเห็นว่าการี่เราจะช่วยผู้อื่นได้ เราต้องช่วยตัวเองให้มีหลักก่อน การี่เราจะช่วยคนตกน้ำ เราต้องว่ายน้ำเป็นก่อนการที่เราจะช่วยนำสัตว์ให้ข้ามโอฆสงสารได้ เราต้องมีเรือคือ ต้องรู้โพธิปักขิยธรรมก่อน ก็โพธิปักขิยธรรม คนจะรู้ได้ก็ต้องตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าหรือเป็นพระอรหันต์ เมื่อยังไม่สำเร็จก็ยังไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็เท่ากับว่ายังไม่มีเรือ เมื่อไม่มีเรือจะใช้อะไรส่งสัตว์ข้ามโอฆะได้คติ ของเถรวาทเป็นอย่างนี้
มหายาน มุ่งความเป็นพระโพธิสัตว์ หรือ พุทธภูมิ เพื่อบำเพ็ญ โลกัตถะจริยาได้เต็มที่ คือมุ่งช่วยผู้อื่นเป็นจุดสำคัญ และแสดงว่ามีพระโพธิสัตว์หลายองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวร , พระมัญชุศรี , พระวัชรปราณี , พระกษิติครรภ, พระสุมันตรภัทร และ พระอริยเมตไตรยเป็นต้น เป็นตัวอย่าง เพื่อจูงใจให้คนปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์
14. เถรวาทมี บารมี ที่จะให้สำเร็จบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า 10 ประการ
มี ทาน, เนกขัมมะ, ปัญญา ,วิริยะ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา, ขันติ
มหายาน มีบารมีอันให้ถึงความสำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์ และเป็น ปฏิปทาของพระโพธิสัตว์
6 ประการ คือ ทาน ศีล วิริยะ ขันติ ฌาน ปัญญา ( บ้างก็ว่ามี 10 เหมือนกับ ของ เถรวาท )
15. เถรวาท พระอรหันต์อยู่จบกิจในพรหมจรรย์แล้วสิ้นกิเลสแล้ว สิ้นความสงสัยรู้ว่าตนบรรลุพระอรหัตผลด้วยตนเอง โดยมิต้องมีคนบอก มีความรู้ในอริยมรรค อริยผล ไม่ฝันปรินิพพานแล้วก็ดับหมดทั้ง กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร ( อนุปาทิเสสนิพพาน ) ไม่เกิดอีก ถือว่าเหนือกว่าพระโพธิสัตว์ เพราะสิ้นกิเลสแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกแล้ว แต่พระโพธิสัตว์ยังมีกิเลสยังต้องศึกษาและ พระเถรวาทจะไม่ไหว้รูปพระโพธิสัตว์ เพราะถือว่ายังไม่เป็นพระภิกษุ
มหายาน พระอรหันต์ยังฝันอย่างคนมีราคะ เพราะถูกมารยั่ว ยังความไม่รู้ในอริยมรรค อริยผลยังต้องสงสัยใน อริยมรรค อริยผล เป็นต้น จะรู้ว่าตนบรรลุต้องมีผู้บอก ปรินิพพานแล้วยังเกิดอีก แต่เกิดเพื่อสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือว่าสู้พระโพธิสัตว์ไม่ได้ เพราะเห็นว่าพระโพธิสัตว์มีโอกาสช่วยสัตว์โลกได้มากกว่า
16. เถรวาท ในกายสาม เถรวาทยอมรับแต่ ธรรมกาย กับ นิรมาณกายบางส่วน นอกนั้นไม่รับ
มหายาน รับทั้งสามคือ ทั้งธรรมกาย ได้แก่ พระธรรม สัมโภคกายคือ กายจำลอง หรือ กายอวตารของพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าเป็นพระกกุสันธบ้าง โกนาคมะบ้าง กัสสปะบ้าง ศากยมุนีบ้างเป็นต้น ล้วนเป็นสัมโภคกายของพระพุทธเจ้าองค์เดิมทั้งนั้น นิรมาณกายคือ กายที่ต้องแก่ เจ็บปรินิพพาน เป็นกายที่พระพุทธเจ้าองค์เดิมสร้างขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสอนคนให้เห็นความจริงของชีวิต แต่พระพุทธองค์ที่แท้ ที่องค์เดิมนั้นไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ เช่น พระอมิตตาภาพุทธะมีกายจำลองเป็น พระศากยมุนี แต่พระอมิตตาพุทธะนั้น เป็นอมตะอยู่ที่แดนสุขาวดี
17. เถรวาท อาศัยพระไตรปิฎก คือธรรมวินัย ยุติตามะ ปฐมสังคายนาเป็นหลักและไม่มีพระสูตรอะไรเพิ่มเติม มหายาน ธรรมวินัยของเดิมก็มี และมีการเพิ่มพระสูตรใหม่ในภายหลังจากการทำปฐมสังคายนาเช่น ปรัชญาปารมิตาสูตร สุขาวดียูหสูตร สัทธธรรมปุณฑริกสูตร ลังกาวตารสูตร เป็นต้นแม้ปฐมเทศนาก็มิได้มีครั้งเดียว