อ.เจษฏาตั้งคำถาม "กินข้าววันละมื้อ ช่วยให้หน้าเด็ก จริงเหรอ"?
คำถามจากที่แชร์กันเรื่องของคุณหมอญี่ปุ่น ชื่อ โยชิโนริ นางุโม ออกมาเสนอให้คนเรากินข้าวแค่วันละมื้อก็พอ เพราะเค้าลองมาแล้ว พบว่าร่างกายดีขึ้น อย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ (ดูรายละเอียดด้านล่าง) ซึ่งดูได้จากหน้าตาเค้าตอน 30 กว่าว่ายังหน้าเด็กไม่สู้ตอน 50 กว่าเลย
... สิ่งที่หลายคนแชร์กันต่อทั้งที แต่ไม่ถามซะก่อน ก็คือว่า กินข้าววันละมื้อน่ะ มื้อไหน ?? คำตอบคือ มื้อเย็นนะครับ ไม่ใช่มื้อเช้าหรือมื้อเที่ยง โดยคุณหมอเค้าคิดว่ากินมื้อเย็นให้อิ่มแล้วนอนไปเลย ... เหมือนสิงโตทำ ... อืมมม
เรื่องนี้ในแพทย์กระแสหลักโดยทั่วไป ไม่ได้ส่งเสริมให้ทำนะ การกินอาหารแค่มื้อเดียวต่อวันจริงๆ แล้วอาจกระตุ้นร่างกายให้ยิ่งมีเมตาบอลิซึมต่ำลง สะสมไขมันง่ายขึ้น ขณะที่ก็อยากอาหารมากขึ้น จากที่อยากผอมลงกลับจะกลายเป็นน้ำหนักขึ้นได้แม้ว่าจะกินน้อยลงเสียอีก ... การกินอาหารหนักก่อนนอน ยังอาจจะทำให้เป็นโรคกรดไหลย้อนได้ด้วย
เอาเป็นว่าในทางการแพทย์กระแสหลัก ไม่ได้ส่งเสริมให้ทำเช่นนั้นครับ .... และผมว่า จะหน้าตาเด็กกว่าวัยเนี่ย มันขึ้นอยู่กับความเครียดและการดูแลผิวพรรณด้วยนะ ...ไม่เชื่อถามพี่เบิร์ดกับอาจารย์สมศักดิ์ได้ ฮะฮะ
---------------------
เนื้อหาที่แชร์กัน (แต่ผมไม่เห็นด้วยนะครับ)
ผู้เขียนเป็นนายแพทย์และเป็นผู้อำนวยการใหญ่ในโรงพยาบาลสี่แห่งในญี่ปุ่น เป็นนักเขียนชื่อดังในญี่ปุ่น และเป็นแขกประจำรายการทีวีหลายรายการ เป็นประธานกิตติมศักดิ์ของ Anti-Aging Medicine World Congress
ผู้เขียนค้นพบวิธีการลดนำ้หนักด้วยการทานเหลือวันละมื้อ และพบว่าความหิวเป็นกระบวนการที่ทำให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอด้วยยีนที่ชื่อ เซอร์ทูอิน (Sirtuin) ในขณะเดียวกันร่างกายก็จะผลิต Growth Hormone ออกมา
ในตอนท้ายผู้เขียนบอกในหน้า 198 ว่า
“สิ่งที่ผมมุ่งหวังคือการวางแผนสำหรับชีวิตที่มีอายุยืนถึงหนึ่งร้อยปี โดยยังมีหน้าท้องที่แบนราบและมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูอ่อนเยาว์
บางคนบอกว่าไม่อยากอายุยืนขนาดนั้น...แต่คนที่พูดแบบนั้นพอถึงคราวเจ็บป่วยก็รีบวิ่งโร่มาหาหมอทุกราย
…เมื่อเข้าสู่วัยชรา ทุกวันจะมีแต่ความทุกข์ทรมาน ซึ่งเป็นผลจากการละเลยสุขภาพ....
…ผมว่าต้องเลือกแล้วละว่าจะใช้เวลานอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลแล้วทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน หรือจะมีสุขภาพดีร่างกายแข็งแรง มีกำลังวังชา รูปลักษณ์ภายนอกดูอ่อนเยาว์จนถึงวาระสุดท้าย แล้วจากไปอย่างสง่างาม”
บทนำ
ผู้เขียนเริ่มทานอาหารเหลือวันละมื้อเมื่ออายุ 45 ปีเพราะปัญหาเรื่องสุขภาพ ผ่านไปสิบปีเมื่อเขาไปตรวจร่างกายพบว่าอายุหลอดเลือดของเขาเท่ากับคนอายุ 26 ปี
บทที่ 1:
เขาเล่าว่ามนุษย์ในอดีตไม่ได้มีกินอุดมสมบูรณ์โดยกินสามมื้อเหมือนปัจจุบันนี้ ในอดีตเรากินวันละมื้อก็บุญแล้ว ดังนั้นร่างกายเราจึงมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง เมื่อเราหิวไม่มีกินเราจะมียีนที่ชื่อ เซอร์ทูอิน (Sirtuin) ออกมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างๆภายในร่างกาย ในขณะเดียวกันร่างกายก็จะผลิต Growth Hormone ออกมา ซึ่งเจ้า Growth Hormone นี้ทำให้เรากลับเป็นหนุ่มสาวมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อการอยู่รอด
ปัญหาก็คือเมื่อร่างกายอิ่ม กลไกนี้ไม่เกิด เราจึงแก่ไปเรื่อยๆ
สรุปง่ายๆคือ การกินมากไปคือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ และที่สำคัญร่างกายเราไม่ได้ถูกออกแบบให้กินอิ่ม เราจึงปรับตัวให้การกินอิ่มได้ไม่ดี ทำให้กระบวนการธรรมชาติของร่ากายเรารวนนั่นเอง
บทที่ 2:
พูดถึงการกินวันละมื้อ โดยแนะนำรายละอียดจากการที่เขาทำมาแล้วได้ผล (สำหรับผมแล้วคิดว่าคงทำตามยาก) แต่หัวใจคือ ในบทนี้เขาบอกว่าเขาเพลิดเพลินกับการที่ได้ยินเสียงท้องร้องจ๊อกๆ เพราะว่าเขากำลังรู้ว่าร่างกายเรากำลังซ่อมแซมและปรับตัวให้เยาว์วัยจากกระบวนการที่เล่ามา
บทที่ 3:
ในหน้า 125-129 คือหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ เพราะผู้เขียนอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่น
1. ปากทางเข้าลำไส้เล็กจะมีเซนเซอร์เตรียมรอรับของกินอยู่ ถ้าไม่มีอาหารไหลลงมาเสียที ลำไส้เล็กจะรีบหลั่งฮอร์โมนสำหรับย่อยอาหารโมลิติน (Molitin) ออกมา ทำให้กระเพาะอาหารบีบตัว เพื่อส่งของกินที่อาจจะตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเข้าไปในลำไส้เล็ก เรียกว่า “การบีบตัวเมื่อหิว” และเป็นตัวการที่แท้จริงของอาการท้องร้องจ๊อกๆ
2. เมื่อกระเพาะรู้ตัวว่าหิวจะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ออกมา เกรลินจะถูกหลั่งออกมาจากเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งถูกกระตุ้นเพราะความหิว โดยจะออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำให้เกิดความอยากอาหาร ขณะเดียวกันก็จะออกฤทธิ์ที่ต่อมใต้สมอง ทำให้หลั่ง Growth Hormone ออกมา เจ้า Growth Hormone นี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮอร์โมนที่ทำให้กลับไปเป็นหนุ่มสาว” นั่นหมายความว่าตอนที่ท้องกำลังร้องจ๊อกๆเพราะหิว คุณจะค่อยๆมีเสน่ห์ขึ้นจากฮอร์โมนที่ทำให้กลับเป็นหนุ่มสาว ถึงท้องจะร้องก็อย่าเพิ่งรีบกินอาหาร ให้มาลองเพลิดเพลินกับประสิทธิภาพของการกลับเป็นหนุ่มสาวที่ได้จาก Growth Hormone กันสักครู่หนึ่งก่อน
3. ตอนที่ท้องกำลังร้องจ๊อกๆนั้น ความสามารถในการอยู่รอดอันยอดเยี่ยมกำลังพลุ่งพล่านขึ้นมา นั่นก็คือ “ยีนเซอร์ทูอิน” ที่มีสมญาว่า “ยีนต่ออายุขัย” หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ยีนที่ทำให้อายุยืน” จากการทดลองกับสัตว์ทุกชนิดพบว่า เมื่อลดปริมาณอาหารลง 40% จะทำให้อายุยืนขึ้น 1.5 เท่า ทว่ายีนนี้จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขบางประการ นั่นคือ “ความหิว” ตราบใดที่ท้องไม่ร้องจ๊อกเพราะหิว ยีนนี้ก็จะไม่ทำงาน ดังนั้น การกินอาหารทั้งที่ยังไม่หิวจึงหมายถึงการมีของดีอยู่กับตัวแต่ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ มาทำให้ท้องร้องจ๊อกด้วยการกินอาหารวันละมื้อดีกว่า แล้วยีนเซอร์ทูอินนี้จะช่วยสแกนยีนในร่างกายอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งค่อยๆฟื้นฟูส่วนที่เสียหาย กล่าวกันว่าความแก่ชราและโรคมะเร็งก็มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของยีน ดังนั้นเราสามารถทำให้กลับเป็นหนุ่มสาวและป้องกันโรคมะเร็งด้วยการกินอาหารวันละมื้อ
4. เมื่อหิวแล้วอาหารยังตกไม่ถึงท้อง ร่างกายจะนำไขมันที่สะสมไว้ในช่องท้องมาเปลี่ยนเป็นสารอาหาร ทำให้หน้าท้องแบนราบ
บทที่ 4:
พูดถึงรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการกินวันละมื้อ แต่มีข้อมูลใหม่ว่าการนอนที่ดีคือนอนในช่วงร่างกายผลิต Growth Hormone ได้ดีที่สุดคือระหว่าง สี่ทุ่มถึงตีสอง
หนังสือ “ยิ่งหิวยิ่งสุขภาพดี” เขียนโดย นพ.โยะชิโนะริ นะงุโม (Yoshinori Nagumo) แปลโดยพิมพ์รัก สุขสวัสดิ์ จัดพิมพ์โดยสนพ. วีเลิร์น
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=581006705363301&set=pcb.581009492029689&type=1&theater