นักตกปลาเชิงอนุรักษ์สะท้อนมุมต่าง หลังทราย สก๊อต ขึ้นโพสต์แรงปมฉลามเสือ-เกาะราชาน้อย
นักตกปลาเชิงอนุรักษ์สะท้อนมุมต่าง หลัง ทราย สก๊อต ขึ้นโพสต์แรง ปมฉลามเสือ-เกาะราชาน้อย
ทัพพ์ มีสุวัฒนะ นักตกปลาผู้มีใจรักธรรมชาติ เคยทำงานอนุรักษ์วาฬเพชฌฆาตในแคนาดาและช่วยวิจัยสัตว์น้ำในไทยอย่างกระเบนราหูและฉลามหัวบาตร ร่วมมือกับ อาจารย์นันทริกา ชันซื่อ และยังเป็นผู้ริเริ่มแคมเปญ Change.org ต่อต้านอวนตาถี่ก่อนที่สื่อจะให้ความสนใจ
ปัจจุบันเขายังคงผลักดันการตกปลาสัตว์ต่างถิ่น(ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ )เพื่อปกป้องปลาพื้นถิ่นไทยและรักษาระบบนิเวศน้ำจืด พร้อมทั้งได้รับตำแหน่ง"ทูตสมาคมปลาเกมนานาชาติ"(IGFA)คนแรกของไทย เพื่อส่งเสริมการตกปลาเชิงอนุรักษ์
แต่ทำไมเขากลับถูกมองว่าเป็น “ผู้ร้าย”
เพราะ ทัพพ์ มีสุวัฒนะ เป็น “นักตกปลา” คนหนึ่ง ซึ่งบางฝ่าย เช่น คุณทราย สก๊อต นักอนุรักษ์ที่มีบทบาทมองว่าการตกปลาคือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เหมาะสม จนนำไปสู่ความขัดแยกทางความคิดในหลายกรณี เช่น
กรณีภาพฉลามเสือ
ในเดือนตุลาคม ปี 2024 มีการโพสต์ภาพฉลามเสื้อตัวหนึ่งที่ถูกตกได้เมื่อ 5 ปีก่อน โดยลูกค้าของไต๋เรือที่แสมสาร ซึ่งเป็นการตกที่ไม่ผิดกฎหมายเพราะฉลามเสือไม่ได้อยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครอง อีกทั้งยังไม่ได้มีเจตนาฆ่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้า แต่ภาพนั้นกลับถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยคุณทราย สก๊อต คือหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทในประเด็นนี้ มีการนำชื่อเรือไปเผยแพร่ในเชิงประณาม เขาแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านจากฝั่งนักตกปลา ทั้งที่ความจริงอาจมีวิธีสื่อสารถึงคุณค่าของฉลามในเชิงอนุรักษ์ได้โดยไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง
กรณีนักตกปลาติดเกาะราชาน้อย
กลุ่มคนประมาณ 8 คนที่เดินทางไปเกาะราชาน้อยเพื่อพักผ่อนและตกปลาชายฝั่ง ต้องรอความช่วยเหลือจากทัพเรือเนื่องจากคลื่นลมแรง แต่ในช่วงเวลานั้น คุณทราย สก๊อต โพสต์ข้อความในสตอรี่ว่า
“Should have left them there = น่าจะปล่อยไว้ที่นั่นเลย”
ซึ่งทำให้หลายๆคนในวงการตกปลา รู้สึกว่าเขามีอคติ ไม่เปิดโอกาสให้เข้าใจข้อเท็จจริงหรือมองว่า “นักตกปลา” คือกลุ่มที่ไม่ควรอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งที่จริงๆ แล้วกลุ่มคนเหล่านั้นอาจเป็นครอบครัวที่มาแคมป์ปิ้ง ไม่ได้ตกปลาเป็นอาชีพและการตกปลาชายฝั่งในลักษณะนี้ก็แทบไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ทั้งสองกรณีสะท้อนให้เห็นว่า ในสายตาของบางคน โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์ นักตกปลาอาจกลายเป็น “ผู้ร้าย” ทั้งที่พวกเขาเองก็รักธรรมชาติและต้องการอนุรักษ์เช่นเดียวกัน
ทัพพ์ ตั้งคำถามอีกว่า ทำไมการอนุรักษ์ต้องเป็นไปตาม“วิธีของใครคนหนึ่ง”เพียงเท่านั้น ทั้งที่นักตกปลาเองก็รักธรรมชาติและมักช่วยให้นักวิชาการเข้าถึงข้อมูลจริงเช่น พฤติกรรมสัตว์น้ำหายาก ข้อมูลการย้ายถิ่นหรือการช่วยติดแท็กเพื่อศึกษาวงจรชีวิตสัตว์
เขาชี้ให้เห็นว่า การตกปลาด้วยเบ็ดหนึ่งคัน จับปลาทีละตัวและปล่อยปลาที่ไม่ต้องการ ได้ถือเป็นวิธีที่ยั่งยืนและมีผลกระทบน้อยที่สุด ต่างจากการใช้อวนที่จับทุกอย่างในน้ำ ข้อเสนอของเขาคือ นักอนุรักษ์และนักตกปลาควรร่วมมือกัน แทนที่จะประณามกันเพราะต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลที่สำคัญต่อการอนุรักษ์ หากเปิดใจและฟังกันมากขึ้น การอนุรักษ์จะเดินหน้าได้ดีกว่าเดิม






