จีนประสบความสำเร็จปลูกไตหมู
ทีมแพทย์จีน จากโรงพยาบาลซีจิง ในเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์ ของกองทัพอากาศ ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตหมู ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ให้กับผู้ป่วยหญิงวัย 69 ปี ที่เป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย
ซึ่งไตที่ปลูกถ่ายเปลี่ยนเป็นสีชมพู และ เริ่มผลิตปัสสาวะไม่นาน หลังจากที่เลือดกลับมาไหลเวียนเป็นปกติ โดยไตทำงานได้ดี และ มีปริมาณปัสสาวะสูงสุดในระยะ 24 ชั่วโมง 5,468 มิลลิลิตร หลังจากนั้นระดับครีเอตินินในซีรัม ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวเคมีที่สำคัญ ในการประเมินการทำงานของไต ลดลงสู่ระดับปกติในวันที่ 3 ถือเป็นก้าวสำคัญทางการแพทย์ ในการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์
จีนมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังราว 130 ล้านคน โดยมีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายหลายล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆปี โดยทีมมวิจัยกล่าวว่า "ผู้ป่วยหญิงรายนี้อาจเผชิญกับความท้าทายบางประการ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เช่น ระบบภูมิคุ้มกันปฏิเสธอวัยวะ ภาวะเลือดแข็งตัว และ การติดเชื้อที่มีต้นตอจากเชื้อโรค เป็นต้น"
ปัจจุบันมีผู้ปลูกถ่ายไตหมูสู่มนุษย์ ที่ยังมีชีวิตอย่างน้อย 4 คน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในอเมริกา โดยผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่าย เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2024 เป็นผู้รับอวัยวะจากหมูที่มีชีวิตรอดยาวนานที่สุด [จนถึงตอนนี้] ในขณะที่ผู้ป่วยรายที่ 4 ราย ซึ่งได้รับการปลูกถ่ายเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ มีชีวิตรอดมาได้นานกว่า 1 เดือนแล้ว...
ก่อนหน้านี้ ทีมจากโรงพยาบาล ในเครือแห่งแรกของมหาวิทยาลัยการแพทย์อันฮุย ได้ปลูกถ่ายตับหมูที่ดัดแปลงพันธุกรรม ให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับขั้นรุนแรง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า "การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์สู่คน อาจเป็นวิธีสำคัญในการแก้ปัญหา การขาดแคลนอวัยวะ" และ "มอบความหวังใหม่ให้ผู้ป่วยจำนวนมาก"














