การผ่าตัดหัวใจด้วยหุ่นยนต์ ประสบความสำเร็จในอินเดีย จากระยะทาง 286 กม.
อินเดียกำลังพัฒนาในด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และ ความสำเร็จล่าสุดในด้านการดูแลสุขภาพ ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว "เอสเอสไอ แมนตร้า" ซึ่งเป็นระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกล รุ่นแรกของอินเดีย ที่ได้รับการอนุมัติจาก CDSCO ได้สร้างประวัติศาสตร์ในโลก ของการดูแลสุขภาพและการแพทย์ระดับโลก ด้วยการทำหัตถการการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ด้วยความช่วยเหลือของหุ่นยนต์ทางไกล โดยเชื่อมต่อสำนักงานใหญ่ของ "เอสเอส อินโนเวชั่นส์" ในเมืองคุรุกรม กับ โรงพยาบาลมานิพัล ในเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ซึ่งมีระยะทางกว่า 286 กิโลเมตร การผ่าตัดนี้ถือเป็นก้าวสำคัญ สู่ระบบการดูแลสุขภาพของอินเดีย โดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 10 นาทีเท่านั้น
"เอสเอส อินโนเวชั่นส์" ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกระบบหุ่นยนต์ผ่าตัด "เอสเอสไอ แมนตร้า" ที่ผลิตในอินเดีย ได้ทำให้ขั้นตอนการรักษาที่ทันสมัย เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และ ตอกย้ำตำแหน่งของอินเดีย ในฐานะผู้นำด้านวิสัยทัศน์ระดับโลก ในการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพ ภายใต้การนำของ นายแพทย์ "สุธีร์ ศรีวาสตาวา" ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ประธาน และ ซีอีโอของบริษัท "เอสเอส อินโนเวชั่นส์ อินเตอร์เนชันนอล" ในเมืองคุรุกรม และ ได้รับการสนับสนุนจาก นายแพทย์ "ลลิต มาลิก" หัวหน้าแผนกศัลยกรรมหัวใจ ที่โรงพยาบาลมานิพัล ในเมืองชัยปุระ พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญของเขา ในสถานที่ห่างไกล การผ่าตัดครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความแม่นยำที่ยอดเยี่ยม โดยมีความหน่วงเวลาโดยรวมน้อยกว่า 35-40 มิลลิวินาที หรือ 1/20 วินาที
"สุธีร์ ศรีวาสตาวา" กล่าวว่า "การผ่าตัดนี้เหมาะกับในพื้นที่ห่างไกล เช่น ในพื้นที่ชนบท ซึ่งชุมชน 60 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลเฉพาะทาง การผ่าตัดทางไกลเป็นวิธีแก้ปัญหาที่สำคัญ การผ่าตัดทางไกลช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ชนบท ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อรับการรักษาเฉพาะทาง ช่วยลดความตึงเครียดทั้งด้าน การเงินและอารมณ์ด้วย"
เมื่อพูดถึงการเอาชนะข้อจำกัด ของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉินหรือกรณีวิกฤต ที่ต้องมีการแทรกแซงทันที "ลลิต มาลิก" เชื่อว่า "การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จากระยะไกล จะช่วยปรับปรุงการเข้าถึงขั้นตอนการช่วยชีวิตได้อย่างมาก ให้การดูแลทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง และ ตรงเวลาถึงแม้จะอยู่ไกลกันก็ตาม เอาชนะอุปสรรคทางภูมิศาสตร์ และ ลดความแตกต่างในการดูแล ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้ ระบบหุ่นยนต์ขั้นสูง และ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง"

