เหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหล้าเถื่อนในตุรกี เพิ่มเป็น 23 ราย ภายใน 2 วัน
เป็นการรายงานข่าวมาจากสำนักข่าวเอเอฟพี จากเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในวันนี้ (16 มกราคม 2568) ว่าทางการตุรกีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปนเปื้อนในเมืองอิสตันบูล จำนวน 23 ราย ในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา และมีผู้ป่วยอาการหนักมากกว่า 30 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากภาวะเป็นพิษ โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากยอดผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้ ที่ 19 ราย ในเมืองอิสตันบูล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการดื่มเหล้าปลอม รวมอย่างน้อย 34 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568
ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการเมืองอิสตันบูลสามารถยึดเหล้าปลอม 29 ตัน และสั่งปิดธุรกิจ 64 แห่ง ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปนเปื้อนหรือผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มเหล้าเถื่อน มีจำนวนทั้งหมด 66 คน ซึ่งนอกจากผู้เสียชีวิต ยังมีผู้เข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียู 32 คน ส่วนอีก 8 คน อยู่ในหอผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วย 3 คน ออกจากโรงพยาบาลแล้ว กระทรวงสาธารณสุขตุรกี ยังไม่แสดงความเห็นใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่ทางการคาดว่า
สาเหตุคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปนเปื้อนเมทานอล ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถเติมลงในสุรา เพื่อเพิ่มความแรงของแอลกอฮอล์ แต่สารข้างต้นก็อาจทำให้ผู้บริโภคตาบอด เป็นโรคตับ และเสียชีวิตได้เช่นกัน อนึ่ง ภาวะเป็นพิษจากการดื่มเหล้าที่ผสมสารอื่น มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในตุรกี ซึ่งการผลิตของภาคเอกชนพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากทางการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยผลิตภัณฑ์ที่ถูกปลอมแปลงมากที่สุดคือ ราคี หรือสุราประจำชาติของตุรกี ซึ่งมีราคาสูงถึงประมาณ 1,300 ลีราต่อลิตรหรือประมาณ 1,266 บาท ในซูเปอร์มาร์เก็ต