นักวิจัยของสหรัฐ จับหนูทดลองใส่แว่น VR เพื่อศึกษาการทำงานของสมอง
โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์เนลในนิวยอร์ก ได้พัฒนาแว่น VR รุ่นพิเศษขึ้นมา โดยไม่ใช่แว่นสำหรับคน แต่เป็นของ หนู เพื่อศึกษาว่าสมองของหนูมีวิธีควบคุมการทำงานของความจำอย่างไร ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ เช่น อัลไซเมอร์ และการรักษาที่เป็นไปได้ ดร.แมทธิว ไอแซคสัน ผู้ร่วมวิจัยหลัก ตัดสินใจออกแบบแว่น VR สำหรับหนู ระหว่างที่พยายามศึกษาผลของวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ ที่เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ในสมอง
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสามารถปรับปรุงการทำงานของความจำในหนูทดลองได้ ไอแซคสันกล่าวว่า ในการศึกษาวิธีรักษานี้ จะต้องใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังสูง และทำการตรึงหัวของหนูที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ไว้ใต้
ซึ่งแน่นอนว่าหนูจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่ด้วยแว่น VR หนูจะยังเดินไปในโลกเสมือนได้ ขณะที่นักวิจัยจะบันทึกภาพกิจกรรมของเซลล์ประสาทในสมองของหนูด้วยเทคนิคเรืองแสง หนึ่งในการทดลองที่เห็นผลชัดที่สุดคือ การหลอกหนูให้เชื่อว่ามีจุดมืดขยายใหญ่กำลังเคลื่อนเข้ามาหามัน นอกจากนี้ ไอแซคสันยังกล่าวว่า หนูทดลองดูเหมือนจะสนุกกับการทดลองที่มีรางวัลตอบแทน เช่น น้ำตาลผสมน้ำหรือเนยถั่ว ทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาชุดแว่นตา VR ต่อไป
โดยตั้งเป้าที่จะสร้างแว่นที่เบาและเคลื่อนที่ได้สำหรับสัตว์ฟันแทะขนาดใหญ่ เช่น กระรอกหรือหนูท่อ โดยรุ่นที่พัฒนาต่อไปนี้จะมีแบตเตอรี่และระบบประมวลผลในตัวด้วย