หนุ่ม"สัมภาษณ์งานออนไลน์"ไม่ได้งาน แถมเสียเงินแสน!
การฉ้อโกงผ่านการสัมภาษณ์งานออนไลน์กำลังเป็นภัยร้ายแรงในอินเดีย โดยผู้ไม่หวังดีปลอมตัวเป็น "ผู้จัดหางาน" หลอกลวงเหยื่อผ่านลิงก์สัมภาษณ์งานออนไลน์ ซึ่งสามารถขโมยทรัพย์สินดิจิทัลของเหยื่อไปได้ในทันที โดยล่าสุดมีกรณีที่ "อาลัม" ชายหนุ่มชาวเมืองปูเน่วัย 22 ปี สูญเสียเงินดิจิทัลมูลค่ากว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 100,000 บาท หลังจากถูกล่อลวงให้คลิกลิงก์ดังกล่าว
อาลัม เล่าถึงประสบการณ์ของเขาผ่านโพสต์ในโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 31 มีนาคม โดยระบุว่าเหตุการณ์นี้เริ่มต้นจากการที่เขาได้รับข้อความจากบัญชีโซเชียลมีเดียชื่อ crankybugatti ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้จัดหางานและเสนอโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความสามารถของเขา
เบื้องต้น การสนทนาระหว่างอาลัมและผู้จัดหางานดูเหมือนไม่มีสิ่งผิดปกติ โดยผู้จัดหางานขอให้ย้ายการพูดคุยไปที่แอปพลิเคชัน Discord ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับการสื่อสารทางวิดีโอและข้อความ อย่างไรก็ตาม เมื่อบทสนทนาดำเนินไป ผู้จัดหางานปลอมเริ่มแสดงความสนใจในผลงานของอาลัมมากขึ้น
ผู้จัดหางานปลอมระบุว่าพวกเขาต้องการให้อาลัมเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์กับฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท และส่งลิงก์สำหรับการสัมภาษณ์ออนไลน์ให้เขา อาลัมกล่าวว่าลิงก์ดังกล่าวเป็น สปายแวร์ (Spyware) ที่ปลอมตัวเป็นแอปพลิเคชันการโทรด้วยเสียงระหว่างประเทศ ซึ่งทันทีที่เขาคลิกลิงก์ กระเป๋าเงินดิจิทัล Phantom Wallet ของเขาก็ถูกแฮกเกอร์เข้าถึง และถ่ายโอนทรัพย์สินดิจิทัลออกไป
"เพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ผมสูญเสียเงินกว่า 3,000 ดอลลาร์ให้กับกลโกงนี้" อาลัมเผยความรู้สึกช็อกและเศร้าเสียใจ พร้อมเตือนคนอื่น ๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในลักษณะเดียวกัน
กรณีของอาลัมไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของการฉ้อโกงที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซีในอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศกำลังปราบปรามกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด
เมื่อเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการบังคับใช้กฎหมาย (ED) ของอินเดีย ได้ฟ้องร้องบุคคลจำนวน 299 ราย ฐานละเมิดกฎหมายต่อต้านการฟอกเงิน (PMLA) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงนักลงทุนในโครงการขุดเงินคริปโทเคอร์เรนซี
วิธีป้องกันการตกเป็นเหยื่อกลโกงคริปโทเคอร์เรนซี
-
ระมัดระวังลิงก์ที่ส่งมาทางออนไลน์
อย่าคลิกลิงก์จากบุคคลที่คุณไม่รู้จักหรือไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ -
ตรวจสอบผู้จัดหางานอย่างละเอียด
ใช้เวลาตรวจสอบชื่อบริษัท ผู้ติดต่อ หรือโครงการที่เสนอว่ามีอยู่จริงหรือไม่ -
ไม่เปิดเผยข้อมูลกระเป๋าเงินดิจิทัล
หลีกเลี่ยงการเก็บข้อมูลสำคัญของกระเป๋าเงินดิจิทัลในแพลตฟอร์มที่ไม่ปลอดภัย -
ติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันมัลแวร์
ใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสที่มีฟีเจอร์ป้องกันสปายแวร์เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกโจมตี
ที่มา: soha