ผลสำรวจพบว่ามนุษย์เงินเดือนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ มากกว่า 8 ล้านคน ต้องเดินทางไปทำงานเป็นระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตรต่อวัน
โดยผลจากการสำรวจและวิจัยนี้ ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาจากการรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในวันนี้ (20 ตุลาคม 2567) ว่ารายงานฉบับหนึ่งเปิดเผยว่าใน 22 เมืองของจีน ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด เหล่าคนทำงานที่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปทำงานในแต่ละวันยังคงเผชิญกับความท้าทาย โดยประชากรมากกว่า 8 ล้านคน ต้องเดินทางไปทำงานเป็นระยะทางไกลมากกว่า 50 กิโลเมตรต่อวัน โดยผลการวิจัยดังกล่าวมาจากรายงานการติดตามการเดินทางในหลายเมืองใหญ่ของจีน ซึ่งเผยแพร่โดยสถาบันวิจัยภายใต้กระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบท ร่วมกับสถาบันการวางแผนและการออกแบบเมืองแห่งประเทศจีน การศึกครอบคลุมเมืองใหญ่ 45 เมืองของจีนที่มีระบบขนส่งทางราง โดยเผยว่าในบรรดา 22 เมืองที่มีประชากรเกิน 5 ล้านคน กรุงปักกิ่งมีสัดส่วนผู้อยู่อาศัยเดินทางไปทำงานไกลมากที่สุด ซึ่ง 12% เดินทางไกลมากกว่า 50 กิโลเมตร รองลงมาคือเมืองกว่างโจว ในมณฑลกวางตุ้ง อยู่ที่ 10% และหากเป็นการเดินทางแบบเที่ยวเดียว 28% ของประชาชนในกรุงปักกิ่ง ใช้เวลาเดินทางนานกว่า 60 นาที เช่นเดียวกับผู้คนในนครเซี่ยงไฮ้ เมืองฉงชิ่ง เมืองเทียนจิน เมืองอู่ฮั่น และเมืองชิงเต่า ซึ่งอยู่ที่มากกว่า 15% แม้ใน 42 เมืองกลุ่มสำรวจที่มีบริการรถไฟใต้ดิน จะมีระบบขนส่งทางรางที่เปิดดำเนินการอยู่กว่า 10,000 กิโลเมตร แต่มีผู้คนเพียงหนึ่งในห้าที่อาศัยและทำงานภายในระยะ 800 เมตรจากสถานี ซึ่งการลงทุนก่อสร้างระบบขนส่งทางรางทุก ๆ 430,000 หยวน (ราว 2 ล้านบาท) ทำให้มีผู้คนเพิ่มเข้ามาในรัศมี 800 เมตรนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น กัวจี้ฝู ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่งกรุงปักกิ่ง อธิบายว่าเมืองใหญ่ที่มีสัดส่วนอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิสูงกว่า มักพบว่าการสร้างสมดุลระหว่างที่ตั้งของสถานที่ทำงานกับที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแม้เหล่านักวางแผนจะมีภาพในอุดมคติ แต่ความเป็นจริงแล้วสถานที่ทำงานซึ่งอยู่แยกกับที่อยู่อาศัย ยังคงพบได้ทั่วไปในหลายเขตเมืองนั่นเอง