มุมมองดราม่า..จากผู้ทำข้อมูลสารคดีช้างไทย
จากกรณีดราม่าระหว่างปางช้างของคุณแสงเดือนที่ถูกน้ำท่วมและมีช้างเสียชีวิต 2 เชือก กับปางช้างแบบดั้งเดิมที่อื่นๆ ในเรื่องของการเลี้ยงช้างแบบดั้งเดิมและแบบปล่อย จนเกิดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์จากเจ้าของปางช้างหลายแห่ง หรือแม้แต่คุณหนูนา ศิลปอาชา ที่ทำการช่วยเหลือช้างมาหลายกรณีเช่นกรณีช้างจากศรีลังกาก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกันตามลิงค์ด้านล่าง
https://news.postjung.com/1577363
ตอนนี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งกล่าวว่าตนเคยเป็นผู้ทำข้อมูลให้กับสารคดีช้างไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าวในแง่มุมที่น่าสนใจ โดยโพสต์ข้อความดังนี้
เขียนถึงสักนิดในฐานะที่เคยทำข้อมูลให้ทีมสารคดี 'ช้างไทย' ให้แมทชิ่ง ออกอากาศ ช่อง 7 เมื่อเกือบสิบปีก่อน
- ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทย เมื่อก่อนมีมาก ปัจจุบันมีน้อยเพราะหดไปตามพื้นที่ป่า ทั้งหมดน่าจะเหลือราวๆ ,5000 ตัว/เชือก เป็นช้างป่าราว 3,000 ตัว ช้างบ้านราว 2,000 เชือก
-ช้างไทยถูกยกเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และถึงแม้เหลือไม่มาก เมื่อเทียบกับประชากรเกือบ 70 ล้านคน ประเด็นที่ชวนถามต่อคือ ทำไมเราจึงดูแลช้างจำนวนเท่านี้ให้มีสวัสดิภาพที่ดีไม่ได้ ปัญหาช้างป่าก็ประเด็นหนึ่ง ช้างบ้านก็อีกประเด็นหนึ่ง
.
ตรงนี้จะขอเสนอเฉพาะประเด็นช้างบ้านก่อน
หนึ่ง ช้างบ้าน ไม่ใช่ช้างป่า เลิกคิดโรแมนติกจะเอาช้างไปปล่อยป่าคืนธรรมชาติ เพราะป่าไม่พอและมันปรับตัวไม่ได้ เหมือนจะเอาหมาบ้านต่อให้ดุที่สุดไปปล่อยป่าก็รอดยาก จะไซบีเรียนที่ว่ามีเชื้อหมาป่า พิตบูลที่ดุๆ หรือหมาล่าหมีแบบไอ้เขี้ยวเงินก็ไม่รอด ต้องเลิกคิดตรงนี้ก่อน
สอง ช้างไม่ใช่หมา แต่เป็นสัตว์มีกำลังมากและใช้ทรัพยากรมาก ดังนั้น ถึงเป็นช้างบ้าน แต่มันก็ไม่ใช่หมาบ้าน ต้องมีการควบคุมระดับหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ต้องมีที่กว้างขวางไม่เจอใคร เพราะสามารถสร้างความเสียหายได้ มากหากมีความผิดพลาดไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
ประเด็นก็คือแล้วจะควบคุมแบบใดซึ่งแบ่งเป็นสองแนวหลัก
หนึ่งยึดขนบโบราณ ยืนตามตำราคชศาสตร์ หรือวิธีการเลี้ยงแบบวิถีเดิมของแต่ละชนเผ่าชาติพันธุ์ในการนำช้างมาใช้งาน ส่วนใหญ่ใช้ขอสับโซ่ตรวนเครื่องมั่นฝึกฝนให้เชื่อฟังบังคับได้ ปัจจุบัน ปางช้างเพื่อการท่องเที่ยวหรืออื่นๆ เช่น นักแสดงในหนัง ลคร โฆษณา ใช้แนวทางนี้
สองวิถีใหม่ เชื่อว่าต้องให้อิสระ ความเป็นอยู่ใกล้เคียงธรรมชาติ ซึ่งก็สามารถสร้างการท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่งได้เช่นกัน และช้างก็มีความสุขกว่า ซึ่งก็คือแนวทางมูลนิธิของคุณแสงเดือน ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้
ข้อขัดแย้ง
- สิ่งที่ไม่ค่อยถูกหยิบยกมาพูดก็คือทั้งสองแนวทางยืนกันคนละฝั่งหรืออยู่กันคนละปลายมากเกินไปหรือไม่ และเมื่อต่างไม่วางจุดยืนบนฐานข้อเท็จจริงในการคุยกัน เลยกลายเป็นความขัดแย้งที่กรุ่นกันมานาน กระทั่งเกิดกรณีน้ำท่วมและมีความสูญเสียเกิดขึ้น สิ่งที่มองไม่เห็นใต้ภูเขาน้ำแข็งของวงการช้างเลยลอยขึ้นมา
- ที่ผ่านมาฝั่งคุณแสงเดือนค่อนข้างได้รับการยอมรับในทางสากลและทางหลักการค่อนข้างมาก ขณะที่ฝั่งปางช้างทั่วไปมักถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ยังเลี้ยงสัตว์ด้วยขอช้างและเครื่องพันธนาการ หรือถูกมองว่าหากินด้วยการทรมานสัตว์ แน่นอนว่าเกี่ยวกับภาพลักษณ์และการเสียประโยชน์ทางธุรกิจเช่นกัน
- บนจุดยืนที่แตกต่าง ประเด็นก็คือเราต้องย้อนกลับไปในการอธิบายช่วงแรก จำได้หรือไม่ว่า ช้างไม่ใช่หมา ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ มีกำลังมาก ใช้ทรัพยากรมาก แต่โจทย์สำคัญที่สุดคือเราไม่สามารถ 'คืนช้างสู่ป่า' ได้ เพราะมันคือ 'ช้างบ้าน' และป่าก็มีไม่พอ แค่ตอนนี้ช้างป่าที่มีก็กระทืบคนตายปีละร้อยแล้ว
.
- ดังนั้น คนไทยจึงต้องอยู่กับช้างบ้านต่อไป ประเด็นก็คือจะใช้แนวทางไหนได้บ้าง แบบหลักการที่สากลยอมรับหรือแนวทางของคุณแสงเดือนแม้ตอบโจทย์ช้าง แต่ถ้าจะใช้แนวทางนี้จริงหมายความว่าจะต้องใช้ทรัพยากรมาก ด้วย เอาแค่พื้นที่รองรับช้าง 2,000 ตัวก็แทบเป็นไปไม่ได้ คุณต้องคิดถึงพื้นที่แบบคุณแสงเดือนราวๆ 200 แห่ง แห่งละ 100 ตัว มีน้ำ มีป่า มีอาณาเขต ยังไม่นับกระบวนการดูแลจัดการอื่นๆ ไม่ว่าคนอาหาร หรืองบประมาณ ยิ่งรัฐก็จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องมาก ต้องมีโมเดลรองรับชัดเจน อาจต้องมองแบบอุทยานซาฟารีในแถบอาฟริกา เป็นต้น
- เมื่อมันเป็นไปได้ยาก หรือยังเป็นไปไม่ได้ในเวลานี้ สุดท้ายต้องกลับมาที่ตรงกลางคือธุรกิจปางช้าง ปัญหาก็คือแต่ละที่ทรัพยากรไม่เท่ากัน ทำให้บางแห่งดูแลช้างได้ดี มีความสุขระดับหนึ่ง แต่บางที่ก็มีลักษณะของการทรมานช้างจริง
- อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องพึ่งระบบปางช้างก็ต้องพึ่งควาญช้าง ซึ่งก็คือการต้องพึ่งการเลี้ยงระบบตรวนและขอช้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าบังคับช้างไม่ได้ก็คืออันตรายกับคน ศาสตร์การบังคับช้างโดยพื้นฐานก็คือการป้องกันอันตรายให้คนจากช้างด้วย
- นอกจากนี้ องค์ความรู้เรื่องช้างในบางด้านอาจหายไปจากความเข้าใจ เช่น ตำราคชลักษณ์ ที่โดยนัยอาจไม่ได้ดูเพียงลักษณะช้างดีหรือไม่ดีเท่านั้น แต่อาจเป็นลักษณะสายพันธุ์ดุ หรือไม่ดุด้วย ช้างชนะศึก ช้างชนะงาจึงไม่ใช่แค่งาสวย แต่มีลักษณะธรรมชาติดุในการสู้ด้วย เหมือนเรารู้ว่าล็อตไวเลอร์ต้องดุ หมาแบบนี้ต้องใส่เครื่องมั่นให้ดีเวลาเอาออกนอกบ้าน ต้องรู้วิธีจับล็อกเวลาเขาตื่น เป็นต้น
- ช้างก็เช่นกัน เพียงแต่เรามองแบบปัจจุบัน มีหู มีงาก็ช้างหมด แต่องค์ความรู้โบราณอาจแบกสายพันธุ์ไว้ว่าทรงนี้มันดุ มันต้องเลี้ยงแบบไหน ถ้ามันดุต้องคุมยังไง ช้างบางสายพันธุ์ปล่อยแบบธรรมชาติอาจมีความรุนแรงมากกว่าการควบคุม
- อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือ มันมีจริงที่ควาญทรมานหรือฝึกช้างหรือใช้งานช้างหนักแบบทารุณกรรมซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ช้างต้องได้รับการปกป้อง และกลุ่มควาญหรือคนทำธุรกิจปางช้างก็ต้องยอมรับและจัดการปัญหาอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน
- ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แค่อยากบอกว่าทั้งสองแนวทางมีจุดอ่อน จุดแข็ง ควรต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับมูลนิธิคุณแสงเดือน และการสูญเสีย รวมถึงแนวทางรับเงินบริจาคหรือขอทุนต่างชาติมาดูแลก็เป็นแนวทางหนึ่งในการดูแลช้าง เป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรได้รับการยอมรับ ส่วนความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องถอดบทเรียนหาวิธีกันต่อไป เพราะมันเป็นเรื่องสุดวิสัย ไม่มีใครคาดว่าแม่แตงจะเกิดอุทกภัยระดับนี้ นึกภาพไม่ออก หาวิธียังไม่ถูก อาจคล้ายๆกรณีโรงนิวเคลียร์ฟูกูชิมะเจอสึนามิ ถ้าใครได้ดูหนัง จะเห็นว่าต่อให้ทำคู่มือพร้อมรับมือทุกกรณีที่คิดออก เจอรอบนั้นเข้าไปก็ไม่มีแนวรับมือไหนระบุในตำราและยังงงๆกันอยู่ถึงตอนนี้ว่าเตามันสงบลงเพราะอะไรกันแน่
- เช่นเดียวกัน สิ่งที่ควรทำความเข้าใจให้ตรงกันคือธุรกิจปางช้างทั่วไปก็ร่วมแก้ปัญหาคนกับช้างบ้านเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องมองเป็นปีศาจหรือป่าเถื่อนเสียทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาถูกโจมตีมากซึ่งมีทั้งจริงและไม่จริง โดยบทบาทมูลนิธิคุณแสงเดือนก็อาจเป็นความขัดแย้งหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มองด้วยข้อท็จจริงที่คนเลี้ยงช้างอื่นๆต้องแบกไว้เหมือนกันก็แก้ปัญหาให้ช้างไทยไม่ได้
โมเดลแบบมูลนิธิคุณแสงเดือนเป็นเรื่องดี แต่อาจไม่สามารถใช้ช้างบ้านทั้งหมดที่มีได้ ปางช้างแต่ละแห่งก็ทรัพยากรไม่เท่ากัน พื้นที่ไม่ได้มีกว้างขวางพอจะทำอย่างนั้นเหมือนกันได้ และเมื่อคนต้องทำงาน ช้างบ้านก็ต้องทำงาน ต่างคนต่างหาเลี้ยงกันในจุดที่สมดุลพอดีไม่เอาเปรียบกัน
ดังนั้น สิ่งที่ต้องโฟกัสหรือให้ความสำคัญตรงกันก็คือสวัสดิภาพของสัตว์ที่ดีควรเป็นแบบไหน ต้องมีหน่วยงานช่วยกำกับดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งคน ช้าง เจ้าของธุรกิจ และธรรมชาติ อย่างไร
ขณะเดียวกันเรื่องช้างไทยควรมองเป็นเรื่องใหญ่ รัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากไม่อยากอายชาวโลกที่ไปอวดเขาว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาติ แต่แค่ 5000 ตัว/เชือก ยังดูแลไม่ได้ ที่ผ่านมาเคยมีบรรจุไปช่วยป่าไม้ลาดตระเวนแต่เห็นว่างบมาไม่กี่ปีก็ตกเบิก ควาญเลยพาช้างหนีหมด ปัญหาวนลูป ถ้าจะแก้ต้องมีแผนแม่บทที่จริงจัง มีมาตรการดูแลตามบริบทที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็น ช้างบ้านทช้างป่า ปางช้าง ช้างมูลนิธิ หรือช้างที่จะบรรจุเข้ารับราชการบ้างก็ตาม
ภาพช้างจากปางช้างอื่นๆ
ควาญแบงค์ พลายน้ำแตง
ช้างตระกูลแสน ของพระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ช่วยแจกเสบียงให้แก่ผู้ประสบภัย
ปางช้างแม่แตง Elephant Park&Clinic กล่าวขอบคุณคุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่มอบอาหารช้าง ถุงยังชีพควาญช้าง และเงินสดแก่ปางช้างจำนวน 14 ปาง
พระครูอ๊อดและช้างในการดูแลลงสำรวจพื้นที่น้ำท่วม 4 ต.ค. 67
พลายภูพิงค์ ในความดูแลของควาญแดง แม่แตง