รพ.ค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 พร้อม รพ.สนาม ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติทันท่วงที
รพ.ค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 พร้อม รพ.สนาม ช่วย
ผู้ประสบภัยพิบัติทันท่วงที
วันที่ 2 ตุลาคม 2567 ที่โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีการจัดกิจกรรมสาธิตการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนาม พร้อมทดสอบการช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ภัยพิบัติ ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย ตรงตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) อาทิ ห้องฉุกเฉิน, ระบบบอุปโภค-บริโภค, เครื่องปั่นไฟ, เครื่องกรองน้ำระบบ RO, เครื่องผลิตออกซิเจนจากอากาศ เพื่อสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยในเบื้องต้น พร้อมรับมือกับภัยพิบัติ สามารถส่งต่อผู้ป่วยสู่การรักษาที่ทันท่วงที ให้กลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างดีที่สุดต่อไป
พันเอกชัยชาญ คำหาญ รองนายแพทย์ใหญ่ กองทัพภาคที่ 4 เผยว่า โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ เป็นโรงพยาบาลที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพบกให้เป็นสถานพยาบาลที่เตรียมความพร้อมตลอดเวลาสำหรับรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆในภาคใต้ รวมถึงเรื่องสาธารณภัยอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อโรงพยาบาลฯ มีความพร้อมมากขึ้น โดยเฉพาะจากความสำเร็จในการยกระดับมาตรฐานการทำโรงพยาบาลสนาม ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่ 2 เราจึงดำเนินการแสดงศักยภาพนี้ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานต่าง ๆ ของราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับอุบัติสาธารณภัย จนถึงกลุ่มประชาชนทั่วไป ให้ได้เห็นและเกิดความมั่นใจในประสิทธิภาพของการให้บริการ ทั้งด้านแพทย์สนามและด้านโรงพยาบาลสนาม
สำหรับกิจกรรมการตั้งโรงพยาบาลสนามโดยโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธครั้งนี้ เป็นการสาธิตการจัดเตรียม โรงพยาบาลสนาม ที่เทียบเท่าใกล้เคียงกับระดับ 2 หรือโรงพยาบาลสนามที่มีความสามารถในการทำหัตถการในการผ่าตัดและช่วยชีวิตในเบื้องต้นได้ กรณีคนไข้มีอาการวิกฤต โดยในองค์ประกอบของโรงพยาบาลสนามนี้ จะมีทั้งส่วนของ เตียงรองรับผู้ป่วยกว่า 20 เตียง สำหรับดูแลผู้ป่วยได้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง, ห้องฉุกเฉิน, ห้องสุขา, ระบบอุปโภค-บริโภค, เครื่องปั่นไฟ และทำลายขยะตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO), เครื่องกรองน้ำระบบ RO (Reverse Osmosis) ซึ่งสามารถใช้ในการฟอกไตได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตทดสอบการใช้โรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยเหลือเหตุการณ์โคลนถล่ม เป็นการแสดงความพร้อมรับมือด้านภัยพิบัติ โดยมีเครื่องมือสำคัญอย่าง ‘เครื่องผลิตออกซิเจนจากอากาศ’ เข้ามาใช้ในโรงพยาบาลสนาม นับเป็นเทคโนโลยีแรก ๆในประเทศไทยที่ตอบโจทย์การช่วยเหลือที่ครอบคลุม โดยเฉพาะกรณีเคลื่อนย้ายทางอากาศ จากเดิมที่เครื่องบินไม่สามารถแบกถังออกซิเจนขึ้นไปได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยเครื่องมือดังกล่าวสามารถผลิตออกซิเจนบริสุทธิ์จากอากาศ ได้ใน 1 ชั่วโมง สามารถช่วยผู้ป่วยได้ทันที
โดยทั่วไปแล้วโรงพยาบาลสนามจะออกดำเนินการ ต่อเมื่อโรงพยาบาลพื้นฐานหรือระบบสาธารณสุขในพื้นที่ไม่สามารถใช้การได้ เช่น สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมทางภาคเหนือ ที่เราสามารถนำโรงพยาบาลสนามสับเปลี่ยนกำลังกับบุคลากรในพื้นที่ พร้อมทดแทนอุปกรณ์การแพทย์เดิมที่เสียหาย ซึ่งทางมาตรฐานโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธมี คือใกล้เคียงระดับที่ 2 จะมุ่งเป้าเดินหน้าทดสอบมาตรฐานกับองค์การอนามัยโลก เพื่อให้ได้เป็นโรงพยาบาลสนาม ระดับ 2 อย่างเต็มตัว
“โรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ มีความมั่นใจเป็นอย่างมาก กรณีเกิดภัยพิบัติ โรงพยาบาลมีทีมแพทย์ อุปกรณ์ครบครันในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะโรงพยาบาลสนามที่เทียบเท่าใกล้เคียงกับระดับ 2 หรือโรงพยาบาลสนามที่มีความสามารถในการทำหัตถการ ในการผ่าตัด และช่วยชีวิตในเบื้องต้นได้ กรณีคนไข้มีอาการวิกฤต” พันเอกชัยชาญ กล่าวเสริมย้ำในตอนท้าย