อำเภอทุ่งสง จัดงานเฉลิมฉลองหลาดชุมทางทุ่งสง ครั้งที่ 300 วิถีหลาดชุมทางเลือกซื้อของฝากของที่ระลึก อาหารขนมพื้นบ้าน 14 จังหวัดภาคใต้ และกิจกรรมด้านศิลปะวัฒนธรรม
เมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 กันยายน 2567 ที่หลาดชุมทางทุ่งสง อำเภอทุ่งสง ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของงานวิจัย โดยมีนายถิรนาท เอสะนาชาตัง นายอำเภอทุ่งสง พร้อมด้วยผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงาน ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ กล่าวว่าความสำเร็จของการเปิดหลาดชุมทางทุ่งสง เริ่มตั้งแต่เปิดดำเนินการครั้งแรกในเดือนมกราคม 2561 ซึ่งหลาดชุมทางทุ่งสงไม่ได้เป็นเพียงตลาดที่ขายสินค้าและบริการจากทุนวัฒนธรรมตามวิถีหลาดชุมทางแห่งเมืองของทุ่งสงที่เปิดเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของพลังแห่งทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตลาดแห่งนี้สามารถสร้างรายได้กว่า 100 ล้านบาทจากสินค้าที่มีรากฐานจากวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตร
ต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการลดใช้โฟม โดยหลาดชุมทางทุ่งสงคือ "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" ที่สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและนวัตกรรมสมัยใหม่ การเฉลิมฉลองในครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการศึกษาและสืบสานวัฒนธรรม แต่ยังเป็นการ ฟื้นฟู พัฒนา เพื่ออนุรักษ์ ต่อยอด เปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุได้ร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ยั่งยืนด้วยการนำทุนมาใช้และส่งเสริมให้เป็นฐานแห่งการผลิตเพื่อสร้างเศรษฐกิจครัวเรือนที่มั่งคง และส่งเสริมเศรษกิจหมุนเวียนของเมืองที่เป็นรากฐานของการเป็นเมืองวัฒนธรรมที่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับการเฉลิมฉลองหลาดชุมทางทุ่งสงครั้งที่ 300 ในครั้งนี้ เพื่อสืบสานเอกลักษณ์ท้องถิ่นและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ที่เกิดขึ้นจากการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้โครงการวิจัย "การพัฒนาเมืองแห่งทุนวัฒนธรรมที่ยังยืน และเครือข่ายย่านวัฒนธรรมชุมชน" ที่ได้รับทุนอุดหนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความยั่งยืนของการดำเนินงานของหลาดชุมทางทุ่งสง ที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นพื้นที่ผลิตสินค้าและบริการจากทุนวัฒนธรรมของชาวเมืองทุ่งสง เป็นหลาดที่เป็นแบบอย่างของการสร้างรายได้จากทุนวัฒนธรรม สร้างฐานคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว และกลุ่มชุมชน โดยมีงานวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญ อีกทั้ง ยังสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันของคนในอำเภอทุ่งสง และทุกภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มประชาคมวัฒนธรรม และเทศบาลเมืองทุ่งสงที่สนับสนุนงานด้านนโยบายที่ส่งเสริมการดำเนินงานของหลาดชุมทางทุ่งสง มาจนถึงครั้งที่ 300
ภายในงานจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย มีสินค้าทุนวัฒนธรรมและของดีท้องถิ่นมีร้านค้ากว่า 250 ร้าน นำเสนอสินค้าหัตถกรรม อาหารพื้นบ้าน ผลไม้พื้นถิ่น และของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนทุ่งสง การแสดงพื้นบ้าน ศิลปะการแสดงของภาคใต้ และการแสดงแฟชั่นโชว์จากผ้า และเครื่องประดับที่ผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานภายใต้ชื่อ "แพรพรรณ พัสตราลวดลายผ้าหลาดชุมทาง"