เกาหลีใต้วางแผนชดเชยเกษตรกรเลี้ยงสุนัข ก่อนบังคับใช้กฎหมายห้ามบริโภคเนื้อสุนัขในปี 2027
ภาพจาก AP โดย Ahn Young-joon (แฟ้มภาพ)
กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุนัขตะโกนคำขวัญระหว่างการประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายห้ามบริโภคเนื้อสุนัขที่นำโดยรัฐบาล หน้าอาคารทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2023 ป้ายที่ถือระบุว่า “รับรองสิทธิในการมีชีวิตและเสรีภาพในการเลือกอาชีพ”
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2024 เกาหลีใต้ได้ประกาศแผนการชดเชยให้แก่เกษตรกรและผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเนื้อสุนัขที่กำลังลดน้อยลง ก่อนที่กฎหมายห้ามบริโภคเนื้อสุนัขจะถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2027 ซึ่งการดำเนินการนี้กำลังเผชิญกับการคัดค้านจากทั้งเกษตรกรและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์บางกลุ่ม
รัฐสภาของเกาหลีใต้ผ่านร่างกฎหมายสำคัญในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งจะห้ามการฆ่า การเพาะพันธุ์ หรือการขายสุนัขเพื่อการบริโภคภายในสามปีข้างหน้า โดยผู้ฝ่าฝืนอาจถูกลงโทษจำคุก 2-3 ปี
กระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้กล่าวว่า เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยตั้งแต่ 225,000 วอน (ประมาณ 170 ดอลลาร์สหรัฐ) และสูงสุดถึง 600,000 วอน (ประมาณ 450 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อสุนัขหนึ่งตัว หากพวกเขายอมปิดกิจการก่อนกำหนด
อย่างไรก็ตาม สมาคมเกษตรกรได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ โดยกล่าวว่าราคาชดเชยต่ำเกินไป และต้องการให้ชดเชยสุนัขหนึ่งตัวในราคา 2 ล้านวอน (ประมาณ 1,505 ดอลลาร์สหรัฐ) พวกเขายังอ้างว่าการห้ามบริโภคเนื้อสุนัขเป็นการละเมิดสิทธิในการเลือกอาชีพ และจะส่งผลให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจมากขึ้น
สมาคมเกษตรกรยังยืนยันว่าจะสู้ต่อแม้ว่าจะต้องถูกจำคุก โดยได้เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเพื่อขยายระยะเวลาผ่อนผันและปรับปรุงแผนการชดเชยให้เหมาะสม
นักเคลื่อนไหวจากกลุ่มต่อต้านการทารุณสัตว์อย่าง Humane Society International ยกย่องการประกาศครั้งนี้ว่าเป็น "ก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์" แต่ยังคงวิจารณ์ว่าการชดเชยตามจำนวนสุนัขที่เกษตรกรมีอยู่อาจส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์สุนัขมากขึ้น เพื่อหวังรับเงินชดเชย
ทั้งนี้ การบริโภคเนื้อสุนัขเป็นประเพณีที่มีมายาวนานในเกาหลีใต้ รวมถึงบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา แม้ว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้จะไม่บริโภคเนื้อสุนัขแล้ว