โรคกลัวความตาย (Thanatophobia)
โรคกลัวความตาย (Thanatophobia) คือ อาการหวาดกลัว ตื่นตระหนก และวิตกกังวลรุนแรง เมื่อนึกถึง หรือ เจอเหตุการณ์เกี่ยวกับความตาย คนที่มีอาการกลัวความตายจะความคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องสุขภาพ และพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตาย ซึ่งอาการมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการของ โรคกลัวความตาย (Thanatophobia)
อาการของ โรคกลัวความตาย (Thanatophobia) นั้นรุนแรงกว่าความกังวลทั่วไป และมีอาการคล้ายคนที่มีโรคกลัว (Phobia) ซึ่งเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง โดยอาการที่พบได้ดังนี้
- เกิดความกลัว และ ความกังวลเกี่ยวกับความตายอย่างรุนแรง โดยเกิดอาการทันที โดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เมื่อเจอเหตุการณ์เกี่ยวกับความตาย อ่านหนังสือชมละคร หรือภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย และได้ยินเรื่องเกี่ยวกับความตาย
- พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความตายอย่างเช่น การไม่ไปร่วมงานศพ
- คิดหมกมุ่นเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองคอยเช็กอาการผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยอยู่เสมอ
- อาการตัวสั่นเหงื่อออกมากผิดปกติ อาการปากแห้ง
- อาการปวดศีรษะ อาการวิงเวียนศีรษะ และหน้ามืด
- ปวดท้อง คลื่นไส้
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหายใจหอบถี่ แน่นหน้าอก
- อาการตัวชา หรือรู้สึกเจ็บเหมือนเข็มทิ่ม
- ได้ยินเสียงในหูสับสน
- รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำกะทันหัน ท้องเสียหรืออาหารไม่ย่อย
หากอาการรุนแรงขึ้น อาจรู้สึกผิด เศร้า โกรธ กระสับกระส่าย วิตกกังวลต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงการพูดคุย หรือทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว เพื่อน และคนอื่น ๆ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่ผู้ป่วยนึกถึง พูดถึง หรืออยู่ในเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความตาย อย่างเช่น ไปร่วมงานศพ หากเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นอาการของโรคทางจิตอื่น อย่างเช่น ภาวะวิตกกังวลทั่วไป
สาเหตุของโรคกลัวความตาย
- บาดแผลทางใจ โรคกลัวความตายอาจเกิดขึ้นจากบาดแผลทางใจส่วนบุคคล มีประสบการณ์ใกล้ตาย หรือจากการได้ยินคนอื่นพูดถึงประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เห็นเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตต่อหน้าต่อตา อย่างเช่น การก่ออาชญากรรม อุบัติเหตุทางรถยนต์ ภัยพิบัติ
- สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมโดยมีพ่อแม่ที่วิตกกังวล ปกป้องมากเกินไป ไม่ยอมลูกให้ทำอะไรเลยเพราะกลัวจะเป็นอันตราย หรือชอบวิจารณ์มากเกินไป มีความเสี่ยงต่อความวิตกกังวล รวมถึงโรคกลัวบางอย่าง
- ประวัติการละเมิด ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทางร่างกาย หรือทางอารมณ์ มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกลัวความตาย
- การเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว เกิดขึ้นได้หลังจากที่บุคคลประสบกับการเสียชีวิตของพ่อแม่ หรือพี่น้อง
- คำสอนทางศาสนา ไม่มีศาสนาที่นับถือ ทำให้ขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ หรือ ศาสนาบางศาสนาสอนผู้คนว่าพวกเขาจะถูกลงโทษหลังความตาย สิ่งนี้สามารถนำไปสู่โรคกลัวความตายได้
- อายุ มักเกิดขึ้นในคนวัยกลางคน เมื่อเริ่มประสบกับความตายของเพื่อน และครอบครัว เกิดความกังวลเกี่ยวกับความตายของตัวเอง และคนที่รัก
- การเจ็บป่วยเรื้อรัง คนที่เป็นโรคเรื้อรัง อย่างเช่น มะเร็งหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระยะลุกลาม (COPD) ระยะรุนแรงที่มีแนวโน้มรักษาไม่หาย และโรคทางจิตเวช อย่างเช่น โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) โรคกลัว และโรคซึมเศร้า
- วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข โรคระบาด อย่างเช่น โควิด-19
แนวทางการรักษา
เนื่องจาก Thanatophobia ไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตเวชตาม DSM-5 จึงไม่มีวิธีวินิจฉัยและรักษาโดยตรง แพทย์จะประเมินอาการและวิธีรักษาโดยใช้เกณฑ์ของโรคกลัวแบบจำเพาะ หากมีอาการกลัวความตายนานกว่า 6 เดือน เกิดความกลัวรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และพยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตาย แพทย์อาจวินิจฉัยว่ามีโรคกลัวแบบจำเพาะ และอาจรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
1.จิตบำบัด เป็นการพูดคุย หรือ ปรึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจกับจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและหาแนวทางรักษา
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)
วิธีที่นิยมใช้รักษาโรคกลัว โดยการพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อช่วยปรับความคิดให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะแนะนำแนวทางการรับมือเมื่อเกิดความกลัวอย่างเหมาะสม อย่างเช่น การฝึกหายใจ เพื่อช่วยลดความกลัวและวิตกกังวล
การบำบัดด้วยการเผชิญหน้า (Exposure Therapy)
การบำบัดวิธีนี้จะให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว อย่างเช่น ให้เขียนเกี่ยวกับความตายของตัวเองหรือคนที่รัก ชมภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความตาย และพูดคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ควบคู่กับการใช้เทคนิคผ่อนคลายความเครียด (Relaxation Technique) และการพูดคุยกับตัวเองในเชิงบวก ทำให้รู้สึกกลัวน้อยลง และไม่หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอีก
2.การใช้ยา
แพทย์อาจให้รับประทานยาลดความวิตกกังวลและแพนิค
นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ผ่อนคลายความเครียดด้วยการนั่งสมาธิ และฝึกหายใจ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด