ศาลกรุงปักกิ่งยกฟ้อง กรณีหญิงชาวจีนถูกโรงพยาบาลปฏิเสธการแช่แข็งไข่ จนสร้างเสียงวิจารณ์ไปทั่ว
เป็นการรายงานข่าวมาจากสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเมื่อวานนี้ (8 สิงหาคม 2567) ว่าศาลกรุงปักกิ่งยกฟ้อง คดีหญิงสาวชาวจีนถูกโรงพยาบาลปฏิเสธ การแช่แข็งไข่ สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม เกี่ยวกับสิทธิของสตรีโสดในประเทศ โดยคดีของ น.ส.สวี เจาเจา วัย 36 ปี ได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคมจีน ซึ่งสิทธิสตรีกลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอัตราการเกิดในประเทศลดลงอย่างน่ากังวล สวีกล่าวว่า เธอต้องการแช่แข็งไข่เพื่อให้ตัวเองมีทางเลือกในการมีบุตร หากเธอไม่สามารถหาคู่ครองได้ คำอุทธรณ์ถูกปฏิเสธ และคำพิพากษาเดิมได้รับการยืนยันแล้ว เธอกล่าวผ่านการถ่ายทอดสดบนแพลตฟอร์มวีแชต ผลลัพธ์เป็นไปตามคาด แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ จุดสิ้นสุดของการพิจารณาคดี และเธอจะไม่ยอมแพ้ด้วยสาเหตุนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ขณะที่สวีอายุ 30 ปี เธอประสงค์ในการแช่แข็งไข่ของเธอ แต่ถูกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า ขั้นตอนนี้มีไว้สำหรับหญิงซึ่งไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติเท่านั้น และไม่เหมาะกับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง
หญิงสาวตัดสินใจยื่นฟ้อง เพื่อเรียกร้องสิทธิ แต่ศาลกรุงปักกิ่งพิพากษายกฟ้อง เมื่อปี 2565 ว่าการที่โรงพยาบาลปฏิเสธคำขอของสวีนั้นไม่ผิดกฎหมาย และไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิของเธอ อย่างไรก็ดี สวียื่นอุทธรณ์ต่อศาลในปีถัดมา แม้การต่อสู้ทางกฎหมายของเธอไม่ประสบผลสำเร็จ แต่สวียืนยันว่า ดีใจที่จุดประกายประเด็นดังกล่าวให้กลายเป็นที่ถกเถียงในสาธารณะ ฉันคิดว่ามันกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ความเห็นของสาธารณชนเปลี่ยนไปมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงกฎหมายใหม่ที่เพิ่งถูกเสนอ เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อสตรีโสดมากขึ้น อนึ่ง การพัฒนาของเศรษฐกิจจีนได้ผลักดันสตรีสู่ตลาดงานมากขึ้น ส่งผลให้หลายคนเลือกที่จะแต่งงานในช่วงอายุที่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน หลายคนต้องเผชิญกับแรงกดดันจากบิดามารดา ให้แต่งงานและมีบุตรหลังอายุ 30 ปี ปัจจุบัน ผู้หญิงทั่วโลกเลือกแช่แข็งไข่เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร เมื่ออายุมากขึ้น กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วย การนำไข่ออกมารักษาในไนโตรเจนเหลว เพื่อใช้ในการตั้งครรภ์ในอนาคต และหญิงโสดชาวจีนจำนวนไม่น้อย เดินทางไปแช่แข็งไข่ในต่างประเทศ แต่หลายคนไม่มีเงินทุนมากพอที่จะทำเช่นนั้น