ทางการรัสเซียยืดอกรับ ว่านักโทษอย่างน้อย 3 คนที่แลกกับสหรัฐฯ เป็นสายลับของรัสเซียจริง
เป็นการรายงานข่าวมาจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซียเมื่อวานนี้ (2 สิงหาคม 2567) ว่ารัฐบาลมอสโกยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรก ว่าพลเมืองรัสเซียอย่างน้อย 3 คน ที่ได้รับอิสรภาพตามข้อตกลงแลกนักโทษกับสหรัฐและตะวันตก เป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองจริง โดยนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวถึงนายวาดิม คราซิคอฟ หนึ่งในพลเมืองรัสเซียซึ่งได้รับการปล่อยตัว ตามเงื่อนไขการแลกนักโทษกับสหรัฐ เป็นบุคลากรของหน่วย อัลฟา ซึ่งเป็นทีมหัวกะทิของสำนักงานความมั่นคงแห่งรัฐ ทั้งนี้ คราซิคอฟถูกจับกุมได้ที่เยอรมนี และศาลพิพากษาให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานลอบสังหารผู้บัญชาการกองกำลังในสาธารณรัฐเชเชน ที่เป็นหนึ่งในพื้นที่ปกครองตนเองของรัสเซีย ซึ่งศาลของเยอรมนีล่าวว่าบงการโดยหน่วยงานรัฐของรัสเซีย แม้สหรัฐและเยอรมนี ตลอดจนพันธมิตรตะวันตกอีกหลายประเทศ กล่าวมาตลอด ว่าคราซิคอฟเป็นเจ้าหน้าที่ของเอฟเอสบี อย่างไรก็ตาม นับเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ที่รัฐบาลมอสโกยอมรับว่า บุคคลดังกล่าวคือหนึ่งในเจ้าหน้าที่ข่าวกรองคนสำคัญ
ขณะเดียวกัน เปสคอฟกล่าวด้วยว่า นายอาเต็ม ดุลต์เซฟ และนางอันนา ดุลต์เซวา เป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองเช่นกัน และบุตรสองคนของทั้งคู่ ไม่เคยทราบมาก่อน ว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นชาวรัสเซีย จนกระทั่งเครื่องบินซึ่งเดินทางเดินทางไปรับ ลงจอดที่สนามบินวนูโคโว ในกรุงมอสโก รัสเซียและสหรัฐแลกเปลี่ยนนักโทษครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมอสโกปล่อยนักโทษชาวอเมริกันและชาวยุโรปรวม 16 คน รวมถึงนายอีวาน เกิร์ชโควิช ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันของเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ซึ่งถูกจับกุมเมื่อปี 2566 นายพอล วีแลน อดีตนาวิกโยธินชาวอเมริกัน ซึ่งถูกจับกุมเมื่อปี 2561 และนางอัลซู คูมานเชวา ผู้สื่อข่าวชาวรัสเซีย-อเมริกัน ของสถานี วิทยุเสรียุโรป/วิทยุเสรี ซึ่งถูกจับกุมเมื่อปี 2566 ด้านสหรัฐและพันธมิตร ร่วมกันปล่อยตัวนักโทษชาวรัสเซีย 10 คน ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นเด็ก ซึ่งเป็นบุตรของนักโทษ ออกจากเรือนจำในสหรัฐ นอร์เวย์ เยอรมนี โปแลนด์ และสโลวีเนีย และการแลกเปลี่ยนนักโทษทั้งหมดเกิดขึ้น บริเวณรันเวย์ของท่าอากาศยานนานาชาติอังการา ในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในสหรัฐกล่าวว่า การเจรจาใช้เวลานานกว่า 18 เดือน เนื่องจากรัฐบาลมอสโกยืนกราน ว่ารัฐบาลวอชิงตันต้องปล่อยตัวคราซิคอฟ