คำมั่นของปักกิ่ง…ประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมพลังงานความร้อนใต้พิภพฉบับแรกของโลก เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประชุมพลังงานความร้อนใต้พิภพโลก (World Geothermal Congress หรือ WGC) ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดโดยไชน่า ปิโตรเคมิคอล คอร์ปอเรชัน (China Petrochemical Corporation) หรือซิโนเปค กรุ๊ป (Sinopec Group) ได้เผยแพร่มาตรฐานอุตสาหกรรมความร้อนใต้พิภพฉบับแรกของโลก (“มาตรฐาน”) และปฏิญญาปักกิ่ง (Beijing Declaration) อย่างเป็นทางการในระหว่างพิธีปิดในกรุงปักกิ่ง
การประกาศมาตรฐานและปฏิญญาปักกิ่ง จะเป็นตัวกำหนดหลักการและเพิ่มแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมความร้อนใต้พิภพทั่วโลกพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ซึ่งจะเข้ามายกระดับการพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานสะอาด พร้อมผลักดันการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และเป็นประโยชน์ต่อผู้คนทั่วโลก
ปฏิญญาปักกิ่ง ระบุว่า การสนับสนุนจากทุกฝ่ายจะทำให้พลังงานความร้อนใต้พิภพกลายเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่ได้รับความนิยมและมีการแข่งขันมากที่สุดในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ผู้เข้าร่วมงาน WGC2023 จึงให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้
-
หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างความตระหนักรู้ทั่วโลกเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมความร้อนใต้พิภพ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-
หลักการของการเปิดกว้างและความร่วมมือ เพื่อร่วมกันส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและผลักดันให้อุตสาหกรรมความร้อนใต้พิภพพัฒนาอย่างมีคุณภาพ
-
หลักการแห่งความเป็นธรรมและเหตุผล และการส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาอุตสาหกรรมความร้อนใต้พิภพทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
-
หลักการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ การแบ่งปัน และการกระชับความร่วมมือของอุตสาหกรรมพลังงานความร้อนใต้พิภพทั่วโลก
มาตรฐานดังกล่าวอาศัยแนวปฏิบัติด้านความร้อนใต้พิภพของจีนเป็นข้อมูลอ้างอิง ในการกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของวงจรชีวิตของพลังงานความร้อนใต้พิภพทั้งหมด โดยเป็นข้อมูลอ้างอิงที่ครอบคลุมสำหรับมาตรฐานทางเทคนิคของอุตสาหกรรมความร้อนใต้พิภพทั่วโลก พร้อมแนะนำแนวทางปฏิบัติสำหรับการทำความร้อนใต้พิภพ ด้วยความร้อนและน้ำใต้พิภพที่อุณหภูมิต่ำและปานกลาง ครอบคลุมการประเมินทรัพยากรความร้อนใต้พิภพ การคำนวณภาระความร้อน การออกแบบแผนการขุด วิศวกรรมการขุดเจาะและหลุมผลิต วิศวกรรมการทำความร้อน การตรวจสอบ และการควบคุม
สำหรับพลังงานใต้พิภพถูกสำรวจพบและถูกดึงขึ้นมาใช้นานมากแล้ว เพื่อหาแหล่งพลังงานทดแทนพลังงานฟอสซิลกำลังจะหมดไป และเป็นการสร้างพลังงานทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นการนำเอาพลังงานความร้อนที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาใช้ โดยความร้อนดังกล่าวเกิดจากแกนกลางของโลกตั้งแต่ยุคกำเนิด อุณหภูมิจากแกนลึกสุดอาจสูงถึง 5,000 องศาเซลเซียส หรือ 9,932 องศาฟาเรนไฮต์ เดินทางผ่านตัวกลางที่มีความหนืดขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงเปลือกโลก ความร้อนดังกล่าวทำให้น้ำที่เก็บกักอยู่ในโพรงหินมีอุณหภูมิร้อนขึ้นสูงสุดถึง 370 องศาเซลเซียส โดยได้ถูกความดันภายในโลกดันน้ำขึ้นมาบนผิวดิน กลายเป็นไอลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ แล้วตกลงมาเป็นฝนหรือหิมะ จากนั้นไหลกลับลงไปใต้ดินนำความร้อนขึ้นมาอีก ในรูปแบบพลังงานหมุนเวียนของกระแสความร้อนภายในโลก
เราสามารถนำพลังงานความร้อนใต้พิภพในบริเวณที่เรียกว่า Hot Spots คือบริเวณที่มีการไหลหรือแผ่กระจายของความร้อนจากภายใต้ผิวโลก ขึ้นมาสู่ผิวดินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้เป็นแหล่งความร้อน (heat source) สำหรับทำความอบอุ่นแก่ที่พักอาศัยหรืออาคารสำนักงาน หรือใช้เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพการชำระล้างทำความสะอาด เป็นต้น
จุดเด่นของพลังงานความร้อนใต้พิภพคือแทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งพลังงานสะอาด ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ สามารถหมุนเวียนและนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เป็นแหล่งพลังงานที่น่าเชื่อถืออย่างที่สุด แต่ถึงแม้ว่าหลายประเทศที่มีแหล่งสำรองความร้อนใต้พิภพที่อุดมสมบูรณ์ แต่แหล่งพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวยังถูกนำมาใช้ประโยชน์น้อยมาก
ดร.หม่า หยงเชิง (Ma Yongsheng) ประธานซิโนเปค กล่าวว่า “ซิโนเปคได้สร้างจุดแข็งและสั่งสมประสบการณ์มากมาย ในการพัฒนาและการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นเป้าหมายและความรับผิดชอบของเราในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในเรื่องนี้ รวมถึงส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างคาร์บอนต่ำทั่วโลก”






















