รู้จัก "สถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน" ในประเทศไทย สถาปัตยกรรมแห่งการผสมผสาน
หากใครเคยไปเที่ยวภูเก็ตคงเคยเห็นตึกเก่าสีสันสวยงาม ในย่านเมืองเก่าของภูเก็ต ทั้งบ้าน ร้านค้า สถานที่ราชการ และธนาคาร ซึ่งมีสถาปัตยกรรมแบบชิโน-ยูโรเปียน ถือเป็นแลนด์มาร์กและจุดถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ต
สถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบจีนและยุโรปเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน เกิดขึ้นจากการติดต่อทางการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาวจีนและชาวยุโรปในอดีต อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ 2-3 ชั้น ก่ออิฐหรือคอนกรีต
ภาพจาก : Promsant Dhongtaeng
สถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน มีรูปแบบที่เรียบง่าย ยุคแรกได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมจีนมากกว่ายุคหลังๆ จะได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรปมากขึ้น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกัน ขึ้นอยู่ยุคสมัยและวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น
จุดเด่นของสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน อาคารส่วนใหญ่ จะมีลวดลายปูนปั้น ลักษณะเป็นทรงเลขาคณิต รอบซุ้มหน้าต่างและช่องระบายอากาศมีลวดลายปูนปั้นประดับตัวอาคาร กรอบหน้าต่างมีความโค้ง เสาค้ำแบบยุโรป
สถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน พบได้ทั่วไปในภาคใต้ของประเทศไทย เช่น ภูเก็ต ระนอง หาดใหญ่ สงขลา สตูล ตรัง พังงา และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย
ภาพจาก : ตามสไตล์ JaiSabai
สำหรับที่อำเภอหาดใหญ่ บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 หรือว่าสาย 1 ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักที่ชาวหาดใหญ่ใช้ในการสัญจร เอกลักษณ์ของถนนเส้นนี้จะมีตึกเก่า 8 คูหา รูปแบบสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน ทาสีสันสวยงาม เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำหรับถ่ายรูปใจกลางเมืองหาดใหญ่ที่มีความสวยงามของสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน และเคยเป็นฉากประกอบภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง “Killing Field” มาแล้ว
สถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมแห่งการผสมผสาน ความกลมกลืนประณีต งดงาม สีสันสดใส หลากหลายและน่าสนใจ สื่อถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่แน่นแฟ้น
คำว่า "ชิโน-ยูโรเปียน" แปลว่า
ชิโน = คนจีน
ยูโรเปียน = ยุโรป
ดังนั้น สถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน หมายถึง สถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนและยุโรปเข้าด้วยกัน
สถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน ได้ถือกำเนิดขึ้นในดินแดนแหลมมลายู เมื่อประมาณปี พ.ศ.2054 โดยชาวโปรตุเกส เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ติดต่อค้าขายบริเวณเมืองท่ามะละกา และได้นำเอาวัฒนธรรมแบบยุโรปเข้ามาเผยแพร่ด้วย
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2450 ช่วงที่มีความเจริญของยุคเหมืองแร่ และการค้าขาย ทำให้ชาวยุโรปหลากหลายชาติ เดินทางเข้ามาประกอบกิจการกับชาวจีน แถบจังหวัดภาคใต้ของไทย พร้อมกับดัดแปลงและสอดแทรกรูปแบบวัฒนธรรมตามแบบของตนเอง จึงเกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนในไทย และวัฒนธรรมยุโรปเข้าด้วยกัน
ซึ่งคำว่า "ชิโน-ยูโรเปียน" บางครั้งถูกเรียกว่า "ชิโน-โปรตุกีส" เนื่องจากชาวโปรตุเกส เป็นชาวยุโรปชาติแรกๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวจีนในดินแดนแหลมมลายู และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้