วราวุธ เผย1 ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างตั้งใจและเต็มที่ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
งานประชุม Global Compact Network Thailand Forum (GCNT 2022) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพ” โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, นางกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้นำองค์กรธุรกิจ ผู้แทนสหประชาชาติ ผู้แทนภาครัฐและภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะร่วมกันเสนอแนวคิด เพื่อขยายความร่วมมือ หาทางบรรเทาและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยได้
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นายวราวุธฯ ได้ผลักดันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างตั้งใจและเต็มที่ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชน ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน ได้รับมือและปรับพฤติกรรมพร้อมแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย นายวราวุธ ฯ กล่าวผ่านเฟซบุ๊กของตนว่า “การที่พวกเราช่วยกันแบบนี้ ผมเชื่อได้เลยครับว่า ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 27) COP 27 ที่ผมจะเดินทางไปที่ เมืองชาร์ม อิล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ วันที่ 11-17 พ.ย. 2565 นี้ ซึ่งเป้าหมายคือให้ประชาคมโลกร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส ในปี ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) ซึ่งประเทศไทยของเราไม่ได้มีดีแต่พูด แต่เราทำได้จริง และจะประสบความสำเร็จ”
สำหรับประเทศไทยได้วางแผนเพื่อจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ดังนี้
1.แผนระยะยาวไปจนถึงปี 2065 จะลดคาร์บอนจาก 388 ล้านตัน ลงไปเหลือ 120 ล้านตัน
2.แผนระยะสั้นภายในปี 2030 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนลงไป 40 เปอร์เซ็นต์
3.เป็นความสำเร็จและการยืนยันว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการภายใต้ข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Paris Agreement
อีกประการที่จะถูกยิ่งหย่อนไปไม่ได้คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพ แม้ไทยจะมีพื้นที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่เรามีความหลากหลายทางชีวภาพมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ป่าชุมชนที่มีถึง 11,370 แห่งทั่วประเทศ จากภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาท จะทำให้สามารถขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น