ยุทธพล เดินหน้าควบคุมจำนวนลิงอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับชาวบ้าน
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยอีกหนึ่งแห่ง ที่คนไทยจะต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิต นอกจากจะได้พบกับความสวยงามของพระที่นั่งต่างๆ วิวทิวทัศน์ของเมืองเพชรบุรี ยังมีเจ้าลิงแสมที่เป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยว เพราะต่างออกมาเที่ยวเล่น หาอาหาร แต่ส่วนใหญ่แล้วมีแนวโน้มที่จะออกมาหยิบฉกสิ่งของนักท่องเที่ยว ทำลายข้าวของร้านค้าเสียหายเสียมากกว่า ทำให้หลายคนหวาดกลัวไปตามๆ กันและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ลิงเขาวังดุ”
สืบเนื่องจากประชากรลิงแสมในพื้นที่เขาวัง มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บางหน่วยงานต้องการที่จะแก้ปัญหาโดยการจะย้ายฝูงลิงเหล่านี้ไปไว้ที่ป่าแก่งกระจาน (เขื่อนแก่งกระจาน) พร้อมจะจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์ลิงแสมเพื่อการเรียนรู้ และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ในคราเดียวกันนั้น นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังขาดความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมของสัตว์ เนื่องจากลิงแสมกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในเมือง มีความคลุกคลีกับมนุษย์มาเป็นเวลานาน ขาดสัญชาตญาณสัตว์ป่า เกินกว่าจะกลับไปอยู่รอดในป่าแล้ว ถึงแม้จะรอดอาจจะพากันย้ายถิ่นฐานไปอยู่กับชุมชนใกล้เคียง ที่ไม่เคยผ่านการรับมือการอยู่ร่วมกับลิงอย่างเมืองเพชรบุรีมาก่อน จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านยิ่งกว่าเดิม” พร้อมกล่าวอีกว่า “ตั้งแต่ปี 2562 - 2565
ตนเองและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ได้ดูแลและแก้ปัญหาลิงมาตลอด ด้วยการทำหมันและเฝ้าระวังโรค ตรวจสุขภาพลิงทั้งในจังหวัดเพชรบุรี และทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 32 จังหวัด โดยทำหมันลิงแล้วทั้งหมด 25,000 ตัว ในพื้นที่ต่อไปนี้เช่น
-จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3,502 ตัว (ฝูงเขาวัง 563 ตัว)
-จังหวัดลพบุรี จำนวน 3,694 ตัว
-จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 2,280 ตัว
-จังหวัดราชบุรี จำนวน 2,155 ตัว
-จังหวัดชลบุรี จำนวน 1,922 ตัว
ส่วนในปีงบประมาณ 2566 ได้ตั้งเป้าเพื่อทำหมันเพิ่มอีกจำนวน 1,600 ตัว” นายยุทธพลฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การแก้ปัญหาลิงแสมนั้น จะต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจ ใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยก่อนจะเลือกวิธีและแนวทางที่ดีที่สุด ไม่ใช่คิดวันนี้และทำทันที ทั้งนี้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย จะต้องควบคู่กันไปอย่างสมดุล เพราะนี่คือหัวใจหลักของการแก้ปัญหาในเรื่องนี้นั่นเอง”