ประเทศไทยกับแนวทางและแผนการยกเลิกนำเข้าขยะ
พลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นมหาสมุทร ทะเล ป่า แหล่งน้ำต่างๆ ฯลฯ เนื่องจากพลาสติกในแต่ละชนิดมีระยะเวลาการย่อยสลายที่แตกต่างกัน แต่ละชนิดใช้เวลานาน บ้างก็ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวมันเอง เมื่อพลาสติกเกิดการปนเปื้อนไปสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว จึงยากที่จะกำจัดให้หมดไป ดังเช่นงานวิจัยที่ผ่านมาพบไมโครพลาสติกแอบแฝงมากับน้ำ อาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ในการบริโภค สุดท้ายเข้าสู่ร่างกายในที่สุด
นอกจากจะพบปัญหาหลังจากนำมาใช้งานแล้ว ในห้วงระยะเวลาการผลิตก็ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเช่นกัน เพราะพลาสติกส่วนใหญ่ทำมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จากรายงานของ CIEL กล่าวว่า มลพิษจากการผลิตพลาสติกทั่วโลกและการเผา เฉพาะปี พ.ศ.2562 เท่ากับการปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 189 โรงเลยทีเดียว
รัฐบาลจึงให้ความสำคัญโดยบรรจุเรื่องนี้ลงใน roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 – 2565) หรือการออกมารณรงค์ เช่น โครงการ Everyday Say No To Plastic Bags งดการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตถุงพลาสติกหูหิ้วในภาคอุตสาหกรรม ลดลงถึง 43% หรือเท่ากับ 150,000 ตัน และลดขยะถุงพลาสติกที่ภาครัฐต้องกำจัด ลดลงถึง 225,000 ตัน เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อ 29 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา Ms.Inger Andersen รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการบริหาร UNEP เข้าหารือกับนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับขยะพลาสติก คาร์บอนเครดิต โดยเผยว่า “ได้ข้อสรุปจากอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิคแล้วว่า ในปี พ.ศ.2568 ประเทศไทยจะหยุดการนำเข้าเศษพลาสติก ทุกชนิด 100% เพื่อให้มีการผลักดันการใช้ขยะพลาสติกในประเทศไทยแบบหมุนเวียนตาม roadmap ของการรีไซเคิลขยะพลาสติก และ roadmap ของพลาสติกเวสในประเทศไทยที่วางไว้” พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า แนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการ Ectended Producer Responsibility หรือ EPR ถือเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย ในการลดปริมาณขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นจากการบริโภคในประเทศ โดยหัวใจสำคัญของ EPR คือการทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้ว กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ เพื่อมาทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้”
จริงๆแล้ว ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจากโครงการข้างต้น หรือแม้จากการร่วมรณรงค์ในส่วนของภาคเอกชนก็ดี ทำให้เกิดตัวเลขเป็นที่น่าพอใจ และนานาอารยประเทศได้เห็นว่า ประเทศไทยได้เริ่มต้นในการช่วยเหลือโลก และให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แม้ไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดก็ตาม