ลุงตู่จัดให้! ครม.เห็นชอบ ปล่อยกู้กัมพูชา 983 ล้าน ปรับปรุงถนนหมายเลข 67 หวังเสริมการค้าชายแดน
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กัมพูชา สำหรับโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 วงเงินกู้จำนวน 983 ล้านบาท ช่วยส่งเสริมให้มีการขยายตัวด้านการค้าชายแดน การขนส่งสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวทั้งในไทยและกัมพูชามากขึ้น
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กัมพูชา สำหรับโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 ช่วงเสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงำ (NR67) และอนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการตามขอบเขตของโครงการ NR67 ต่อไป
โดยช่วยเหลือให้วงเงินกู้จำนวน 983 ล้านบาท ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้เพื่อปล่อยเงินกู้ ระหว่างปี 2567-2569 รวม 491.50 ล้านบาท หรือร้อยละ 50 ของวงเงินโครงการ ส่วนอีก 491.50 ล้านบาท สพพ. จะดำเนินการกู้จากสถาบันการเงินในประเทศต่อไป
ทั้งนี้ สพพ. ได้กำหนดเงื่อนไขให้กัมพูชาใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆภายใต้โครงการดังกล่าวจากไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา รวมถึงต้องให้ผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษาจากไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการจำหน่ายสินค้า วัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้าง ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปทำงานในต่างประเทศ และเป็นการกระจายรายได้จากโครงการสู่ผู้ผลิตวัสดุ อุปกรณ์ ก่อสร้างของไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ หรือมากกว่า 491.50 ล้านบาท
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับคาดว่าการพัฒนาโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 จะทำให้ประชาชนชาวกัมพูชาตามแนวเส้นทางประมาณ 50,000 คน หรือกว่า 10,000 ครอบครัว ใน 38 หมู่บ้าน 12 ตำบล 4 อำเภอ ของจังหวัดอุดรเมียนเจย (อุดรมีชัย) และจังหวัดเสียมราฐ สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตได้รวดเร็วและปลอดภัย และสามารถเข้าถึงสถานศึกษาและสถานบริการสาธารณสุขตามแนวเส้นทางได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตลอดอายุของโครงการในแง่ของมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ ประหยัดเวลาในการเดินทาง และมูลค่าจากการลดค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุรวมประมาณปีละ 150 ล้านบาท ขณะเดียวกันถนน NR67 ยังช่วยส่งเสริมให้มีการขยายตัวด้านการค้าชายแดน การขนส่งสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวทั้งในไทยและกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับกัมพูชาในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกัน เช่น เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากอีสานใต้ไปยังกัมพูชา ได้แก่ บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ-เสียมราฐ หรือกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การผลักดันให้เกิดการพัฒนาเส้นทางเดินรถระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวตลอดแนวเส้นทาง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการให้บริการรถโดยสาร