ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติ คำศัพท์ "Metaverse" เป็นภาษาไทยว่า "จักรวาลนฤมิต"
หลังจากคำว่า Metaverse เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่หลงใหลในเทคโนโลยีและการตลาดดิจิทัล และต่อมาแนวคิดนี้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในหลายๆ วงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อองค์กรใหญ่ แบรนด์ดัง อย่างเช่น Facebook ก็ให้ความสนใจจนรีแบรนด์บริษัทตัวเองเป็น Meta พร้อมรุกธุรกิจไปในแนวทางนี้อย่างเต็มที่
ล่าสุด ราชบัณฑิตยสภามีมติบัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนคำว่า "จักรวาลนฤมิต" ขึ้นมา เพื่ออธิบายความหมายของ "Metaverse" เป็นภาษาไทย โดย Metaverse เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นเพื่ออ้างถึงโลกเสมือนจริงที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี และภายในก็อาจมีมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี (อวาตาร์) อาศัยอยู่ในโลกใบนั้น บางคนก็อาจมีงานทำ เป็นเจ้าของที่ดิน หรือไม่ก็มีร้านค้าของตัวเองอยู่ในนั้น
กรณีศึกษา Metaverse ตอนนี้ทำอะไรได้บ้าง ที่ผ่านมา เราได้เห็นการสร้างและใช้งาน Metaverse ในมุมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีการจัดคอนเสิร์ตของจัสติน บีเบอร์ บนโลกเสมือนจริงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยใช้แพลตฟอร์มชื่อ Wave
หรือในฟากค้าปลีก ห้าง Lawson ในญี่ปุ่น ก็ได้เข้าไปสร้างร้านอวาตาร์อยู่ในโลกเสมือนจริงแล้วเช่นกัน โดยนอกจากสารพัดข้าวปั้นที่วางโชว์เต็มไปหมดแล้ว Lawson ยังเปิดให้ลูกค้าเข้าไปแต่งหน้าเค้กคริสต์มาสตามสไตล์ที่ตนเองชอบได้ และมีการประกวดผลงานกันด้วย แถมผู้ที่ชนะการแต่งหน้าเค้กก็สามารถออกมารับเค้กโรลพรีเมียมได้ที่ร้าน Lawson บนโลกแห่งความเป็นจริงอีกต่างหาก
จากสิ่งที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า Metaverse มาพร้อมโอกาสมหาศาลที่แบรนด์สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง ที่สำคัญ ยังมีแพลตฟอร์มจำนวนมากพร้อมจะช่วยสร้างประสบการณ์แบบ Immersive Experience โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบที่เราคุ้นเคยอีกต่อไปด้วย นี่จึงอาจถึงเวลาที่แบรนด์จะลองหาพื้นที่บน Metaverse หรือ "จักรวาลนฤมิต" ของตนเองอย่างจริง ๆ จัง ๆ
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/brandbuffet/posts/4643723529017603