ผู้ว่าฯ และเอกชนหลายจังหวัดขยับ พร้อมรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา
วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน ในขณะที่ศักยภาพทรัพยากรด้านสาธารณสุขมีจำกัด ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เต็มเกือบทุกแห่ง มีผู้ป่วยที่ต้องรอเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากต่อวัน
ต้องชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง โดยเฉพาะผู้ว่าขอนแก่น และ ชัยภูมิ ที่ลุกมาสั่งการดูแลประชาชนของตนเอง และ สร้างสถานที่กักตัว รองรับผู้ป่วยที่กลับไปรักษาในภูมิลำเนา รับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีเตียง กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา แบ่งเบาภาระภาครัฐ ในขณะที่เอกชนที่มีกำลังพอ เริ่มจัดเตรียมสถานที่ รพ.สนามรองรับพนักงาน อีกทางหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐต้องรีบเตรียมการคือ วัคซีน และ ยารักษาโรค ที่ต้องให้ผู้ป่วยรวดเร็ว
ปัจจุบันพบว่า ไม่มีเตียง หรือโรงพยาบาลรองรับ ก็มีผู้ป่วยโควิด หรือผู้สัมผัสเสี่ยงหลายรายเลือกที่จะเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด เพื่อจะไปหาที่รักษาตัว ซึ่งบางรายไม่ได้เข้าระบบหรือแจ้งหน่วยงานสาธารณสุข ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อในชุมชน ทำให้ล่าสุด หลายจังหวัดเริ่มประกาศแจ้งประชาชนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัด และเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หากไม่มีเตียงหรือต้องการที่รักษา และต้องการจะกลับไปรักษาตัวที่จังหวัดนั้นๆ ให้ติดต่อกับโรงพยาบาลในภูมิลำเนา ผู้นำชุมชน อสม. หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน ก่อนจะมีการเคลื่อนย้ายหรือเดินทาง ขออย่ากลับมาเองโดยพลการเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ แถลงมาตรการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ว่าล่าสุดจังหวัดได้ ประกาศความพร้อมในการรับผู้ป่วยยืนยันชาวชัยภูมิ ที่กำลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงสูง ที่มีความประสงค์ขอกลับเข้ามารักษาตัว ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน เช่น โรงพยาบาลจังหวัดชัยภูมิ หรือโรงพยาบาลอำเภอต่างๆ ในจังหวัด โดยประกาศเป็นนโยบาย เขาคือญาติพี่น้องเรา ตนจะจัดรถไปรับกลับบ้าน เรื่องนี้ได้หารือกับฝ่ายสาธารณสุข โรงพยาบาลแล้ว สามารถรองรับการรักษาพยาบาลได้ จึงมอบหมายให้ดำเนินการได้ทันที ส่วนเรื่องการเดินทางไปรับผู้ป่วย ทางจังหวัด ทางอำเภอ เป็นหน่วยรับผิดชอบในการจัดหารถที่มีความปลอดภัยจากการติดเชื้อ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เดินทางไปรับผู้ป่วยถึงที่ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เช่น ใช้รถกระบะ เพื่อให้ผู้ป่วยนั่งกระบะแยกจากคนไปรับ กำหนดให้การเดินทางตรงจากต้นทางถึงปลายทาง ห้ามแวะพักข้างทาง หรือปั๊มน้ำมัน ถ้าจำเป็นต้องทำธุระส่วนตัวให้จอดรถข้างทาง เมื่อถึงปลายทางให้ส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทันที และมีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อรถยนต์ที่ไปรับ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ขอนแก่น รับคนป่วยโควิดกลับภูมิลำเนา เปิดรพ.สนามแห่งที่ 2 จำนวน 110 เตียง นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์ นายก อบจ.ขอนแก่น กล่าวว่า เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดขอนแก่นได้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่นจึงมีมติเปิดใช้โรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 2 เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของ รพ.สิรินธร ที่ได้เริ่มรับผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาในเขต จ.ขอนแก่น เข้ารับการรักษาและดูอาการ ตามแผนระบบการส่งต่อผู้ป่วยของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2564 เป็นต้นมา ซึ่ง อบจ.ขอนแก่น ได้จัดเตรียมอาหาร 3 มื้อต่อวัน ให้กับผู้ป่วย การจัดสถานที่ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น รวมไปถึงอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในด้านต่างๆ
ในขณะที่เอกชนหลายแห่งเริ่มทำโรงพยาบาลสนามของตนเอง เพื่อรองรับพนักงาน และ เป็นการแบ่งเบาภาครัฐอีกทางหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องมีการจัดเตรียมยาให้เพียงพอ โดยเฉพาะ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ใช้ต้านเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากในการระบาดระลอกเดือน มิ.ย. ที่จำนวนผู้ป่วยมีสูงขึ้นมาก ทำให้ประเด็นการขาดแคลนยาในบางพื้นที่เนื่องจากปัญหาการเบิกจ่ายและปริมาณยาที่ต้องใช้มากขึ้นจนยาไม่เพียงพอ และการปรับแนวทางการให้ยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากได้ยาช้า เมื่อคนไข้มีอาการหนัก ยาก็จะไม่ได้ผล ทำให้ต้องเข้าถึงยาได้ตั้งแต่ระยะแรกของการป่วย