สุดยอดผังเมืองของประเทศสเปน ที่ประเทศไทย "ไม่มีวันทำได้"
ผังเมือง Barcelona, Spain
เหตุใดผังเมือง Barcelona จึงได้รับการยกย่อง ให้เป็นผังเมืองอันดับต้นๆ ของโลก
เนื่องจากมีการพูดถึงเรื่องผังเมืองกันใน post ก่อนหน้า และบอยคิดว่าบอยอยากแชร์มุมมองของประเทศที่บอยชอบผังเมือง แต่บอยเริ่มชอบจากแค่เห็นจาก bird-eye's view แล้วสวยจัง
แต่จริงๆมันมีที่มาที่ไปเชิงประวัติศาสตร์ และเหตุผลดีๆที่ส่งผลให้เมืองเขาน่าอยู่มากขึ้นครับ
เห็นหน้าตาสวยๆอย่างนี้ ถูกออกแบบมาตั้งแต่ปี 1859 โดยนักออกแบบ Ildefons Cerdà ข้อดีของการออกแบบเป็นบล็อกนี้ เกิดความสะดวกต่อการคมนาคมในยุคนั้น ผู้คนสามารถเลือกที่จะนั่งรถม้าตรงไปยังอีกฟากฝั่งของเมืองผ่านถนนสายหลัก หรือลัดเลาะไปตามแต่ละบล็อก เพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง แล้วก็ส่งประโยชน์ต่อการคมนาคมของบ้านเขาเองถึงปัจจุบัน เดินทางสะดวก รถไม่ติด เพราะความเป็นระเบียบของเมืองครับ
ผังเมืองนี้มีมากกว่าความสวยนะครับ
"แค่มองด้วยตาเปล่าว่าสวยแล้ว...แต่มาดูไอเดียวิธีคิดของการทำผังเมือง เมื่อปี 1859 จะพบว่าผ่านมาเป็นนับ 160 กว่าปี ทำไมมันปังเชิงประโยชน์ได้ขนาดนี้!!!"
ข้อดีหลัก 3 ข้อ
1) ทรง 8 เหลี่ยมของบล็อก ช่วยลดอุบัติเหตุ :
มุมทั้ง 4 นั้นถูกตัดเฉียง กลายเป็นรูป 8 เหลี่ยมแทน เหตุผลก็เพื่อให้การสัญจรเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น สมมติขับยานพาหนะมาด้วยความเร็ว แทนที่จะต้องเลี้ยวหักศอกแบบ 90 องศา ก็กลายเป็นการเข้าโค้งแบบ 45 องศาแทน และยังทำให้พาหนะมองเห็นคนที่กำลังจะข้ามได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดความคล่องตัวในการจราจรอีกด้วย
2) การรับแสงที่พอดี จากการกำหนดให้บล็อกมีความสูงเพียง 16 เมตร และห่างกัน 20 เมตร
เนื่องจากดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องลงมาโดยตรงตลอดทั้งปี โดยจะทำมุมเฉียงกับตัวอาคารแทบตลอด การที่ทำให้ตัวบล็อกสูงมากไป ส่งผลให้พื้นที่ถนนระหว่างบล็อกอับแสงในบางช่วงของปี การออกแบบของ Cerdà จึงกำหนดความสูงเอาไว้ ซึ่งส่งผลถึงสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละบล็อกด้วยเช่นกัน
แม้ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การจัดการสุขอนามัยในแต่ละบล็อคทำได้ง่ายกว่าเดิม จนกระทั่งกฎเรื่องความสูง 16 เมตรได้ถูกยกเลิกไป และบล็อกสูงเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ถือว่าคิดมาได้ฉลาดมากๆเลย
3) ทุกบล็อกจะถูกกำหนดให้มีพื้นที่ว่างตรงกลาง เพื่อใช้งานในฐานะ “พื้นที่สาธารณะ”
บางชุมชนเลือกปรับให้มันเป็นที่นั่งเล่น สำหรับพบปะพูดคุย หรือประชุมเรื่องสำคัญของชุมชนนั้นๆ ขณะที่บางอันก็เลือกทำให้มันเป็นสนามเด็กเล่น และสระว่ายน้ำ สำหรับเด็กๆ ในบล็อกได้มาเล่น โดยไม่ต้องไปเล่นไกลบ้านตัวเอง
ภายหลังมีการเพิ่มเติม ให้เป็นทั้งที่จอดรถ ร้านขายของ หรือกระทั่งตลาดชุมชน ให้เข้ากับความจำเป็นและความต้องการเฉพาะของแต่ละชุมชนด้วยเช่นกัน
=====
ถ้าสังเกตดีๆ ทุกอย่างที่เขาคิดมาเชิงการออกแบบเป็น functional design หมดเลย คือไม่ใช่แค่สวย แต่มีเหตุผลว่าทำไมทำแบบนี้ หน้าตาแบบนี้ ช่วยเรื่องอะไร ไม่ใช่วางผังเมืองสไตล์ไสยศาสตร์ หรือเป็นเรื่องดวงชะตาด้วยครับ ทั้งหมดเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ สำหรับบ้านเขานะ
การที่บอยมาเขียนชวนคุยเรื่องนี้ไม่ได้จะบอกอะไรมากมายครับ เพราะจริงๆการแก้ผังเมืองเป็นเรื่องยาก เพราะมันถูกสร้างมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในชาตินั้น ว่าวางโครงสร้างผังเมืองมาเป็นแบบใด ถ้าวางฉลาดแต่แรก มันไม่ต้องแก้ไข ปรับเปลี่ยนอะไรยาก
แต่ถ้า ณ ตอนนี้ ยุ่งเหยิงไปแล้ว อิรุงตุงนังไปแล้ว การแก้ผังเมืองมีต้นทุนครับ การจะไล่คน สร้างใหม่ ปรับใหม่ให้ดีงาม โคตรยาก ในเวลาอันสั้น เพราะมันต้องมาจากรากฐานที่สร้างไว้แบบคิดมาดีที่สุด ก่อนมันจะเกิดสังคมเมืองขยายตั้งรกรากแน่นจนแทบจะแก้อะไรไม่ได้แล้ว มันคือการวางโครงสร้างประเทศที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานได้ดีที่สุดแบบ user-friendly มากๆสำหรับประชาชนในประเทศ
ผังเมืองมันก็สะท้อนภูมิปัญญาของผู้สร้าง และการนำไปใช้ของคนชาติ ว่าจะพัฒนามันต่อไปให้ศิวิไลซ์ไหม? แต่คิดว่าของกรุงเทพฯ ตอนนี้ผังเมืองเก๋มาก เป็นผังเมืองแบบเกมตะลุยด่านอุปสรรค สู้กันต่อไป พัฒนาประเทศกันต่อไปเด้ออออ