เมื่อพันปีที่แล้ว กรุงเทพ และ 6 จังหวัดภาคกลางเคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อน
เชื่อหรือไม่ เมื่อ 1,000 ปีก่อน กรุงเทพ อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เคยจมอยู่ใต้ทะเลมาก่อน
เมื่อ 1000 ปีก่อน โลกอยู่ในช่วงอบอุ่นมากช่วงหนึ่ง ทำให้น้ำแข็งจำนวนมาก ละลายออกจากขั้วโลก แม้แต่เกาะกรีนแลนด์แดนน้ำแข็งทุกวันนี้ ในขณะนั้นก็กลายเป็นเขตอบอุ่นจนชาวไวกิ้งเข้าไปตั้งรกรากทำการเกษตรปลูกพืชเมืองร้อนได้ เราเรียกช่วงเวลาที่โลกร้อนในช่วงนี้ ว่าช่วง Medieval Warm Period ผลจากการละลายของน้ำแข็งในช่วงนี้ ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูง และนั่นคือเหตุผลของการที่หลายจังหวัดในภาคกลางตอนล่างของไทย (ขณะนั้นยังไม่มีเมืองไทยปรากฏขึ้นบนโลก) จมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล
ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ แบบที่ 1
ช่วงที่โลกร้อนในสมัย Medieval Warm Period ตรงกับสมัยทวารวดี นั่นคือก่อนจะมีการก่อตั้งกรุงสุโขทัยนั่นเอง ทะเลอ่าวไทยยุคนั้น มีขอบเขตกว้างขวางกว่าปัจจุบันมาก ดังนี้
- ทิศเหนือ ทะเลสูงขึ้นไปถึงบริเวณ จ.ลพบุรี หรือเหนือขึ้นไปอีก
- ทิศตะวันตก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ อ.เมือง และ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ต่ำลงมาที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี และต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
- ทิศตะวันออก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ จ.สระบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี และเว้าไปถึง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ แบบที่ 2
และแม่น้ำสายสำคัญๆ ที่เรารู้จัก ก็มีขนาดสั้นกว่าปัจจุบันมาก ปากแม่น้ำหลายสาย จะมีตำแหน่งไหลลงทะเลสั้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โดย
- ปากน้ำเจ้าพระยา อยู่บริเวณ จ.นครสวรรค์-ชัยนาท
- ปากน้ำแม่กลอง อยู่ทาง จ.นครปฐม (แม่น้ำท่าจีนยังไม่มี)
- ปากน้ำบางปะกง อยู่ทาง จ.นครนายก-ปราจีนบุรี
- ปากน้ำป่าสัก อยู่ทาง จ.ลพบุรี เป็นต้น
ต่อมาโลกเริ่มเย็นลงจนเข้าสู่ช่วงยุคน้ำแข็งย่อย หรือ Little Ice Age น้ำทะเลเริ่มจับตัวเป็นน้ำแข็งตามขั้วโลก กรีนแลนด์หมดสภาพอบอุ่น และกลายเป็นเกาะน้ำแข็ง ชาวไวกิ้งทิ้งถิ่นฐานออกมา ระดับน้ำทะเลทั่งโลกเริ่มลดลง ประกอบกับการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายร้อยปี ทำให้จังหวัดต่างๆในภาคกลางตอนล่างปัจจุบัน เริ่มโผล่ขึ้นเหนือระดับน้ำทะเล ตรงกับยุคกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรไทย (สมัยราชวงศ์ซ้องของจีน)
ต่อมาหลัง พ.ศ.1600 มีบ้านเมืองและรัฐรุ่นใหม่เติบโตขึ้นโดยรอบอ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น รัฐอโยธยาศรีรามเทพ (ที่ต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งตั้งอยู่ตอนบนของอ่าวไทยเหนือกรุงเทพฯ ขึ้นไป และทางน้ำกว้างใหญ่ผ่านบริเวณกรุงเทพฯ (ที่ต่อไปอีกนานมากจะได้ชื่อว่าเจ้าพระยา) ไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้า (Oxbow Lake) นับเป็นแม่น้ำเก่าแก่ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ
มีคนพื้นเมืองตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนชายเลนบ้างแล้ว เช่น พวกพูดภาษาตระกูลมาเลย์-จาม กับชวา-มลายู จนถึงตระกูลมอญ-เขมร กับลาว-ไทย
ในปัจจุบัน โลกกลับเข้าสู่ช่วงอบอุ่นอีกครั้ง และความร้อนพุ่งทะยานเร็วขึ้นจากสภาพเรือนกระจกที่เกิดจากแก้สต่างๆเช่นมีเทน ไอน้ำ คาร์บอนในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งจากขั้วโลกและธารน้ำแข็งหรือหิ้งน้ำแข็ง รวมทั้งยอดเขาน้ำแข็งต่างๆอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอัตรา 3.2 ± 0.4 มิลลิเมตร/ปี
จากสภาพการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลในลักษณะนี้ จึงหลีกเลี่ยงได้ยาก ที่วัฏจักรเดิมจะกลับมาอีกครั้ง นั่นคือการกลับลงสู่ใต้ทะเลของหลายเมืองริมชายฝั่งทั่วโลก รวมทั้งภาคกลางตอนล่างของไทย เช่นที่บ้านขุนสมุทรจีน สมุทรปราการ ซึ่งจมลงทะเลไปแล้วทั้งหมู่บ้าน โดยมีการใช้คำว่าาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อเรียกภัยพิบัติชนิดนี้ โดยเฉลี่ยแล้ว อัตราการกัดเซาะรุนแรงในอ่าวไทย คือเฉลี่ยมากกว่า 5.0 เมตรต่อปี (ถือเป็นพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน) เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งระยะทางรวม 180.9 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 ของแนวชายฝั่ง ทั้งนี้ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงที่สุด โดยบางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 25 เมตรต่อปี
โดยเฉพาะตัวเมืองกรุงเทพมหานคร การศึกษาพบว่า มีการจมลงของตัวเมืองเร็วกว่าปกติอีกด้วย เนื่องจากมีการสูบน้ำใต้ดินจำนวนมหาศาลออกมาเพื่อใช้งานในช่วงหลายสิบปีที่่ผ่านมา เมื่อไม่มีแรงดันน้ำใต้ดิน น้ำหนักตัวเมืองที่มีอาคารสิ่งก่อสร้างมากมายมหาศาล ก็กดทับลงประกอบกับตามที่เราทราบมาข้างต้นว่าใต้กรุงเทพเคยเป็นทะเลโคลนตมมาก่อน ยิ่งทำให้อัตราการจมลงของตัวเมืองหลวงแห่งนี้มีมากขึ้นทุกที จากการศึกษาพบว่า ภายในปี 2050 กรุงเทพมหานครจะเริ่มประสบปัญหาน้ำทะเลสูงจนรับมือไม่ไหว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรีบวางแผนหาทางแก้ไขโดยเร็วตั้งแต่วันนี้