แจ้งด่วน 7 จังหวัดริมเจ้าพระยารับมือเขื่อนปล่อยน้ำเพิ่ม-ปลัดมท.ประชุมทุกจังหวัด-ปทุมธานีให้ 20 หมู่บ้านเตรียมเก็บของขึ้นที่สูง
เขื่อนเจ้าพระยาเริ่มปล่อยน้ำ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะส่งผลกระทบ 7 จังหวัดภาคกลาง
กรมชลประทานออกประกาศแจ้งด่วน 7 จังหวัดรับมือเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิ่ม ะดับน้ำเพิ่มสูง 75 ซม.ให้ประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ปลัดทม.ประชุมวิดีโอผู้ว่าทั่วประเทศจัดการน้ำท่วม-การจราจร
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2559 นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันว่า จากปริมาณฝนที่ตกหนักทางตอนบน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์เพิ่มสูงขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี เพื่อประกาศประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสรรค์ว่า จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะมีค่าสูงสุดในวันที่ 9 ต.ค.2559 ประมาณ 2,350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อสมทบกับปริมาณน้ำจำนวนมากจากแม่น้ำสะแกกรัง จะทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเกินกว่าระดับเก็บกักปกติ
ประกอบกับไม่สามารถเพิ่มปริมาณการรับน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้งทางด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ได้เต็มตามศักยภาพ เนื่องจากมีปริมาณน้ำหลาก (Side flow) จากลำน้ำสาขาไหลลงมาสู่แม่น้ำ และคลองส่งน้ำที่ใช้เป็นทางลำเลียงน้ำออกสู่ทะเล รวมทั้งปัจจุบันพื้นที่การเกษตรที่จะใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิง เกษตรกรยังเก็บเกี่ยวไม่แล้วเสร็จ จึงไม่สามารถนำน้ำไปเก็บสำรองไว้ในพื้นที่ได้
ต้องปรับเพิ่มปล่อยน้ำเป็น 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นายทองเปลวกล่าวว่าจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิมในอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อรักษาสมดุลระหว่างปริมาณน้ำเหนือเขื่อนและปริมาณน้ำระบายท้ายเขื่อนด้วย
การปรับแผนการระบายน้ำครั้งนี้ จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณตั้งแต่ 25-75 เซนติเมตร ทั้งนี้ การปรับเพิ่มการระบายน้ำจะเริ่มดำเนินการทันทีที่ได้รับความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีฝนตกลงมาเพิ่มเติม และจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่าเกณฑ์ดังกล่าว กรมชลประทานจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป
มหาดไทยประชุมวิดีโอ 9 ตุลาคม
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท. 0622/ว 72 ลงวันที่ 7 ต.ค. 2559 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยมีเนื้อหาว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์อุทกภัยทั้งในการดำรงชีพ และการสัญจรไปมาของประชาชนที่ไดัรับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องการสัญจรในช่วงฝนตกหนัก และน้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทบทวน นำเสนอแผนเผชิญเหตุในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยทหาร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ให้ร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร็นซ์ของกระทรวงมหาดไทย ในวันอาทิตย์ที่ 9 ต.ค. เวลา 14.30 น. โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานการประชุม
เตรียมรับมือน้ำท่วมฝั่งธนฯ หลังเสี่ยงฝนหนัก
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงพื้นที่ตรวจการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนย่านฝั่งธนบุรี บริเวณถนนฉิมพลี ถนนทุ่งมังกร และบริเวณหน้าศาลตลิ่งชัน ภายหลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะมีฝนตกหนักใน โดยมีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ นางสาวพรทิพย์ วัชรินทร์ดิลก ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชันและคณะผู้บริหารพร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่
นายภัทรุตม์ กล่าวว่าพื้นที่บริเวณถนนฉิมพลี ถนนทุ่งมังกร และบริเวณหน้าศาลตลิ่งชัน เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และมักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย เมื่อเกิดฝนตกหนัก ปัจจุบันสำนักการระบายน้ำได้พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยก่อสร้างบ่อสูบน้ำ การวางท่อระบายน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งการยกระดับพื้นถนนให้สูงขึ้น จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้
นอกจากนี้สำนักงานเขตตลิ่งชัน ได้เตรียมพร้อมทั้งกำลังคนและอุปกรณ์ต่างๆ และรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงขอขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่ทุ่มเทเสียสละปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาวกรุงเทพฯ
ตรวจต่อเขตบางกอกน้อย
จากนั้นเวลา 11.30 น. รองปลัดกทม. และคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ได้ตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองบางกอกน้อย บริเวณชุมชนสันติชนสงเคราะห์ เขตบางกอกน้อย ซึ่งชุมชนดังกล่าวเดิมใช้ทางเดินในชุมชนเป็นแนวป้องกันน้ำท่วม ทำให้ประชาชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงระหว่างเดือนต.ค.-ธ.ค.เป็นประจำทุกปี
กทม.ได้ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมใยเหล็ก(ค.ส.ล.) และแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองบางกอกน้อย ช่วงสะพานอรุณอมรินทร์ถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ โดยสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนได้ 213 หลังคาเรือน
ปัจจุบันกทม.ได้ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองบางกอกน้อย ช่วงสะพานอรุณอมรินทร์ถึงคลองคราม ความยาว 385 เมตรแล้วเสร็จเมื่อเดือน มี.ค.2557 สามารถแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชนได้ 84 หลังคาเรือน ส่วนช่วงคลองครามถึงคลองน้ำตาล ความยาว 315 เมตร แล้วเสร็จเมื่อเดือน เม.ย.2558 สามารถแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชนได้ 77 หลังคาเรือน ริมคลองบางกอกน้อยบริเวณปากคลองน้ำตาล ความยาว 65 เมตร แล้วเสร็จเมื่อเดือน มี.ค.2558 และช่วงคลองน้ำตาลถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ ความยาว 530 เมตร ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้ว 56 เปอร์เซ็นต์ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถแก้ปัญหาช่วยเหลือได้ 52 หลังคาเรือน
ปทุมธานีออกประกาศ 20 หมู่บ้านเตรียมรับมือ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เทศบาลเมืองบางคูวัด จ.ปทุมธานี ได้เผยแพร่ประกาศการรายงานสถานการณ์น้ำฤดูน้ำหลาก 2559 ระบุว่า
1.ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 16.06 เมตร (รทก.) ระดับปกติรับได้ 18.00 เมตร
2.ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 14.80 เมตร (รทก.)
3.ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,998 ลบ.ม./วินาที
4.ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,861 ลบ.ม./วินาที
5.ค่าระดับน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองบางคูวัด 5.1.ค่าระดับน้ำด้านนอกประตูระบายน้ำคลองบางคูวัด มีค่าระดับที่ -1.63 เมตร (รทก.) 5.2.ค่าระดับน้ำด้านในประตูระบายน้ำคลองบางคูวัด มีค่าระดับที่ -2.42 เมตร (รทก.) สรุปได้ว่า ค่าระดับน้ำด้านนอกประตูระบายน้ำสูงกว่าระดับน้ำด้านใน 0.79 เมตร (น้ำลง)
หมายเหตุ: หมู่บ้านที่อยู่ในคันกันน้ำและประตูระบายน้ำ ได้แก่ หมู่บ้านปาริชาติ หมู่บ้านชัยพฤกษ์ 1-2 หมู่บ้านมณีรินทร์ หมู่บ้านนันทนา หมู่บ้านชวนชื่น หมู่บ้านภัทรปาร์ค หมู่บ้านภัทรนิเวศน์ บ้านเอื้ออาทร หมู่บ้านเมืองประชา หมู่บ้านกฤษติยา หมู่บ้านสุวงศ์ชัย หมู่บ้านอาสาเฮาส์ หมู่บ้านธนาลิน หมู่บ้านทิพย์พิมาน หมู่บ้านฮาบิเทีย หมู่บ้านภัสสร หมู่บ้านพฤกษาวิลเลจ หมู่บ้านลานทอง หมู่บ้านพฤกษ์พิมาน
ข้อความระวัง: ตำบลบางคูวัดเขื่อนและคันกั้นน้ำรอบตำบลอยู่ที่ระดับ +2.50 เมตร (รทก.) หากระดับน้ำสูงถึงระดับ +2.30 เมตร (รทก.) และปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณมากกว่า 2,500 ลบ.ม./วินาที ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมพร้อมในเรื่องที่อยู่อาศัยและเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง
ดูเวลาจริงระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆของประเทศไทย
http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/chart/chaopraya/2012/cp_thaiwater.php