สรรพากร “คอนเฟิร์ม” เช็คบิลออนไลน์ อาลีบาบา-เพจดัง-เน็ตไอดอล เข้าข่าย..โดนเรียบ!!
ประเด็นเรื่องที่กรมสรรพากร จะมีมาตรการการจัดเก็บภาษีออนไลน์ โดยแต่เดิม เราอาจเข้าใจเพียงแค่ว่าพ่อค้า แม่ค้า เอาของไปขายบนโลกออนไลน์ เท่านั้น แต่นาทีเมื่อพูดถึงธุรกิจออนไลน์ ความหมายกว้างมาก เช่น บล็อกเกอร์ ผู้ที่รับจ้างรีวิวสินค้า หรือแอปพลิเคชั่นที่มีการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้อย่าง I Show เพจชื่อดังอย่าง “อีเจี๊ยบเลียบด่วน” Drama Addict ของจ่าพิชิต จะเข้าข่ายที่จะโดนจัดการเก็บภาษีออนไลน์ด้วยหรือไม่?
ถ้าเก็บจะจัดเก็บเท่าไหร่อย่างไร เรื่องนี้ อธิบดีกรมสรรพากร มีคำตอบ
โดยการสัมภาษณ์ประเด็นเรื่องนี้ ทางรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ทางช่องสปริงนิวส์ ถามไปยัง คุณประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ว่า เรื่องของการเรียกจัดเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ จะมีขอบเขตการจัดเก็บอย่างไร โดยอธิบดีอธิบายว่า มาตรการจะแยกเป็น 2ส่วน
1.คือ รายที่มีการซื้อขายในประเทศไทย อย่างธุรกิจ E-Commerce ที่มีมาหลายปี ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจโมเดิร์นเทรดอย่าง เทสโก้โลตัส ที่มีทั้งการขายสินค้าในพื้นที่ของตนเอง และเพิ่มช่องทางการซื้อขายผ่านออนไลน์ ก็มีการจัดทำระบบบัญชีอย่างถูกต้อง ทั้ง 2 ช่องทาง หรือ ผุ้ประกอบการค้าออนไลน์ ที่เป็นรายเล็กๆ ไม่มีหน้าร้านแต่มีการสั่งสินค้า ซื้อขายบนออนไลน์ เช่นขายกระเป๋า เสื้อผ้า หรือตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น ในส่วนนี้ กรมจะมีทีมงานในการตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้อง แยกเป็น 2 แบบคือ นิติบุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม คือถ้ายอดขายเกิน 1.8ล้านบาท ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าไม่ถึง ไม่ต้องเสีย ซึ่งกรมสรรพากร จะตามในส่วนที่ ยอดขายเกิน 1.8ล้านเป็นหลัก
คิดง่ายๆ แบบนี้ว่าถ้าผู้ค้าออนไลน์มียอดขายเกิน 1 ล้านบาท กำไรจะอยู่ที่ประมาณ 20% หักค่าใช้จ่ายต่างๆ เหลืออยู่ประมาณ 200,000 กลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษี
ส่วนวิธีการ เราจะดูจากความนิยม มากน้อยแค่ไหน ด้วยการส่งทีมงานสแกนเพจเหล่านี้ แต่โดยส่วนใหญ่เจ้าของเพจ อาจจะไม่ใช้ชื่อ หรือเบอร์โทรศัพท์จริงๆ เราจะใช้วิธีการส่งทีมงานเข้าไปสั่งสินค้า หรือล่อซื้อ เมื่อได้ข้อมูลมาทางกรมสรรพากรก็จะส่งเอกสารแจ้งไปยังเจ้าของเพจให้ชำระภาษีอย่างถูกต้องต่อไป
ส่วนที่ 2 คือ ผู้ที่ซื้อขายผ่านเฟซบุ๊กแต่ไม่ได้จดทะเบียนในเมืองไทย ส่วนนี้กฎหมายเราอาจจะเข้าไม่ถึง ซึ่งมูลค่ากลุ่มนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง อย่างอาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ชชื่อดังของจีน ที่หลายคนรู้จักดี ตอนนี้เราก็อยู่ระหว่างร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มดังกล่าว เพราะถึงแม้จะมีกาจดทะเบียนที่ต่างประเทศ แต่มีการซื้อขายเกิดขึ้นที่เมืองไทย นี่เป็นตัวอย่าง
ส่วนที่ถามถึงกันมากอย่างประเด็นเน็ตไอดอล คือบริษัทที่มีการว่าจ้างจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย และมีการหักภาษีนำส่ง จากนั้นสิ้นปี สรรพากรจะมีการเรียกเก็บภาษีนาส่งจากเน็ตไอดอลรายนั้นเป็นรายบุคคล
กรณีที่มีการถ่ายทอดสด หรือ Live สด ผ่านเฟซบุ๊ก ซื้อขายกระเป๋าแบรนด์เนม ทั้งมือหนึ่งและมือสอง ส่วนนี้ก็จะต้องมีการจัดเก็บภาษีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการ Live ให้เห็นหน้าตาผู้ขายเราก็ตามตัวได้ไม่ยาก หรือ บล็อกเกอร์ที่รับจ้างเขียนรีวิวสินค้าและมีการรับค่าจ้าง รวมไปถึงเจ้าของเพจชื่อดังอย่าง Drama Addict ของจ่าพิชิต หรือแม้แต่ “อีเจี๊ยบเลียบด่วน” ก็เข้าข่ายเช่นกัน
อย่างไรก็ดี คำถามที่ว่า หากผู้ที่เข้าข่ายเหล่านี้ ใช้วิธีหลีกเลี่ยง เช่นการขอรับค่าจ้างเป็นเงินสด ก็จะเกิดเป็นความยุ่งยากด้านบัญชี เช่นลงรายได้ไม่ครบ กลายเป็นรายจ่าย ก็เกิดเป็นความเสียหายของตนเอง
…..แม้ว่าตอนนี้ สรรพากรจะทำงานอย่างหนักเพื่อจัดระเบียบการค้าออนไลน์ ให้มีการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันก็ยังมีหลายรายที่ไม่ได้มาเข้าในระบบ ซึ่งประเด็นนี้ อาจจะต้องอาศัยการออกกฎหมายใหม่ๆ ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อจัดการให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและถูกต้อง รวมไปถึงยุทธวิธีเบสิกแต่เห็นผลจริง ที่เรียกว่า “ซุ่มโป่ง….แล้วล่อซื้อ”