ยิ่งทำงานยิ่งจน! ชีวิตหนุ่มสาวชาวจีนในเมืองใหญ่
แน่นอนว่าหนุ่มสาวจีนที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมการทำงานต่างก็หวังว่าจะหางานที่จะแบกรับความฝันและปากท้องเอาไว้ได้ รวมถึงมีพื้นที่เล็กๆสำหรับพักกายใจเมื่อต้องอยู่ไกลบ้าน แต่มหานครอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจวล้วนเต็มไปด้วยเด็กจบใหม่ที่พร้อมจะวิ่งเข้าสู่สนามแห่งการแข่งขัน ขณะที่บางคนเดินจากไป ก็มีคนใหม่ๆวนเข้ามา
หลายคนอาจมองว่าวัยรุ่นที่เกิดในช่วงหลังปี 90 ที่ทำงานมาแล้ว3-4 ปี น่าจะมีงานการที่ดีและมั่นคง แต่ความพยายามอันแสนเหน็ดเหนื่อยและหยาดเหงื่อของพวกเขาเหล่านี้กลับไม่ได้ทำให้หนุ่มสาววัยทำงานเหล่านี้มีเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำมากเท่าไรนัก อยากรู้ไหมว่าพวกเขาต้องแบกรับภาระและความกดดันต่างๆของการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ไว้อย่างไรบ้าง?
1.การดำรงชีวิตภายใต้ค่าครองชีพที่สูง
ค่าอาหารในเมืองใหญ่ไม่ใช่ราคาถูกๆ ในปักกิ่งเซี่ยงไฮ้อาหารมื้อหนึ่งตก 30 หยวน (ราว 150 บาท) กว่างโจวถูกกว่าหน่อยแต่อย่างต่ำก็ต้องมี 21 หยวน ยังไม่รวมค่าเช่าบ้านที่นับวันมีแต่จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่คอยรบกวนจิตใจคนหนุ่มสาวที่เลือกมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่
จากสถิติ ปริมาณเงินกู้จำนองบ้านในปี 2016 พุ่งสูงถึง 3 ล้านล้านหยวน ใน 70 เมืองจะมี 64 เมืองที่ราคาที่พักใกล้ใจกลางเมืองปรับตัวสูงขึ้น ไหนจะค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าฮีตเตอร์ ค่าจัดการขยะที่เฉลี่ยแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่ากว่า 200 หยวน (ราว 1,000 บาท)
โดยเงินเดือนเริ่มต้นของเด็กจบใหม่ที่หอบความฝันเข้ามาสู้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เฉลี่ยอยู่ที่ 4,915 หยวน(ประมาณ 24,600 บาท) เซี่ยงไฮ้และกว่างโจวลดลงมานิดหน่อยแต่เฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 หยวนขึ้นไป แล้วคนที่มาทำงานในเมืองใหญ่เป็นเวลา 10 ปี จะมีเงินเดือนประมาณเท่าไหร่? จากข้อมูลทางสถิติ เงินเดือนเฉลี่ยของคนที่ทำงานมานาน 10 ปีของปักกิ่งอยู่ที่ 2 หมื่นหยวน (ราว 1แสนบาท) เซี่ยงไฮ้ 1.8 หมื่นหยวน (ราว 9หมื่นบาท) และกว่างโจวอยู่ที่ 1.5 หมื่นหยวน(ราว 7.5 หมื่นบาท)
2. เดินทางนาน ค่าใช้จ่ายในเดินทางสูง
เนื่องจากปักกิ่งเป็นเมืองใหญ่ การเดินทางไป-กลับที่ทำงานในแต่ละวันจึงค่อนข้างกินเวลามาก ทำให้ระยะทางการเดินทางต่อวันของมนุษย์เงินเดือนในปักกิ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 19.2 กิโลเมตร รองลงมาคือเซี่ยงไฮ้ที่ 18.82 กิโลเมตร กว่างโจวที่ 15.16 กิโลเมตรและเซินเจิ้นที่ 13.97 กิโลเมตร
ส่วนเวลาเฉลี่ยในการเดินทางไปถึงที่ทำงาน ปักกิ่งนานที่สุดที่ 52 นาที เซี่ยงไฮ้ 51 นาทีกว่างโจว 46 นาที และเซินเจิ้น 40 นาที แถมค่าใช้จ่ายรถแท็กซี่ที่หลายคนต้องใช้บริการยามค่ำคืนก็ยังแพงกว่าค่าบริการตอนกลางวันอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าหนุ่มสาวหลายคนต้องเลิกงานดึกกันเป็นประจำ
3. กิจกรรมคลายเครียดก็ต้องใช้เงิน
“วันธรรมดาทำงานเคร่งเครียด วันหยุดต้องการผ่อนคลาย” ได้กลายเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตของหนุ่มสาววัยทำงานชาวจีนทั่วไป คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะออกมาผ่อนคลายเที่ยวเล่นในช่วงกลางคืนของวันหยุด แน่นอนว่าเมืองใหญ่เหล่านี้เต็มไปด้วยแหล่งบันเทิงมากมายให้เลือกสรร วัยรุ่นในเมืองใหญ่ส่วนใหญ่เลือกที่จะดูหนัง ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง เล่นเกม ซึ่งกิจกรรมบันเทิงเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการเพิ่มต้นทุนในการดำรงชีวิตทั้งสิ้น
4.ปัญหาที่มากับเทศกาล เสียหน้าก็ไม่ได้ เสียมารยาทก็ไม่ดี
การให้ของขวัญในช่วงเทศกาลเป็นประเพณีที่ชาวจีนสืบทอดกันมาช้านาน เพราะในหลายโอกาสการให้ของขวัญถือเป็นการแสดงถึงความเคารพและมารยาท แต่ทว่าค่านิยมนี้ค่อยๆกลายเป็นภาระให้กับหนุ่มสาววัยทำงาน เมื่อลองคำนวณดีๆแล้ว ในเวลาหนึ่งปีมีเทศกาลต่างๆมากมาย อีกทั้งแนวโน้มในการให้ของขวัญก็เป็นไปในทิศทางที่ว่า “ยิ่งแพงยิ่งดูดี” เสียด้วย นอกจากนี้คนหนุ่มคนสาวในวัย25-30 กว่าก็จัดอยู่ในช่วงเวลาของการแต่งงานมีครอบครัว เมื่อเพื่อนฝูงแต่งงานมีลูกก็ต้องมีภาษีสังคมเพิ่มขึ้นมาอีก เห็นได้ว่ารายจ่ายนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว
ข้างต้นที่กล่าวมายังคงเป็นปัจจัยหลักที่ว่าเหตุใดพนักงานประจำวัยหนุ่มสาวชาวจีนจึงไม่รวยสักทีแม้ว่าจะอดทนทุ่มเททำงานอย่างหนัก แต่ทว่าคงมีเพียงการได้ลองสัมผัสกับชีวิตแบบนี้จริงๆเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ว่าเราต้องการชีวิตแบบนี้หรือไม่ อย่างน้อยวัยหนุ่มสาวก็ยังเป็นช่วงวัยที่มีไฟและพละกำลังในการฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ อย่างไรก็ดี เหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้เลือกที่จะยืนหยัดสู้ต่อไปแม้ว่าจะต้องเบียดเสียดผู้คนบนรถเมล์ไปทำงาน หรือทำงานหนักจนดึกดื่น ก็คือโอกาสมากมายที่รออยู่ข้างหน้า และภาพอนาคตที่สามารถคาดการณ์ได้นั่นเอง