ศาลฎีกาฯสั่งยึดบ้าน 16 ล้านของสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จ.อ่างทองเป็นของแผ่นดินชี้แจงที่มาไม่ได้
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการ
ศาลฎีกาฯมีมติเอกฉันท์ยึดบ้าน 16 ล้านบาทที่อ่างทองของ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการให้ตกเป็นของแผ่นดินเหตุชี้แจงไม่ชัดเจนถึงที่มาของเงินสร้างบ้าน มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ คดีไม่มีอายุความ เจ้าตัวยอมรับคำวินิจฉัย
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 29 เมษายน 2559 นายชาติชาย อัครวิบูลย์ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ 9 คน อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.74/2558 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล หรือเสี่ยตือ อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 16 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน
คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ชี้มูลความผิดจากการไต่สวนกรณีการร่ำรวยผิดปกติของนายสมศักดิ์ซึ่งจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ไม่แสดงบ้านพักเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่ปลูกสร้างเมื่อปี 2541 ช่วงที่นายสมศักดิ์เป็น รมช.ศึกษาธิการ และก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2544 ในช่วงที่นายสมศักดิ์เป็น รมว.ศึกษาธิการ โดยใช้เงินค่าก่อสร้าง 16 ล้านบาท
คำร้องอัยการสูงสุดระบุพฤติการณ์สรุปว่า นายสมศักดิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกกล่าวหา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รมช.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2540 โดยพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2542 และในวันเดียวกันนั้นได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รมว.ศึกษาธิการ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2544
ผู้ถูกกล่าวหาเริ่มก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวตั้งแต่เดือน ส.ค. 2541 โครงสร้างบ้านเสร็จในเดือน เม.ย. 2542 และมีการก่อสร้างตกแต่งภายในและภายนอกอาคารเสร็จสมบูรณ์ปลายปี 2542 ถือได้ว่าบ้านหลังดังกล่าวมีมูลค่า 16 ล้านบาท ได้มาในระหว่างดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ
เมื่อพิจารณารายได้และฐานะของผู้ถูกกล่าวหาตามบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. กับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากร ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีรายได้เพียงพอที่จะมาก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าว ถือว่าได้บ้านมาโดยร่ำรวยผิดปกติ จึงขอให้บ้านหลังดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
นายสมศักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำคัดค้านอ้างข้อกฎหมายว่าคำร้องเคลือบคลุม อัยการสูงสุดผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง คดีขาดอายุความ และโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า โครงสร้างบ้านหลังดังกล่าวเสร็จตั้งแต่เดือน เม.ย. 2542 ก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น รมว.ศึกษาธิการ เงินที่ใช้เป็นเงินที่พรรคชาติไทยและผู้ที่เคารพนับถือให้การสนับสนุนในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระหว่างปี 2529-2539 ซึ่งตนเองมีเงินส่วนนี้เหลืออยู่ประมาณ 56 ล้านบาท
ศาลเริ่มการไต่สวนเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2559 ผู้ร้องและผู้ถูกกล่าวหามีพยานรวม 14 ปาก ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาเสร็จวันที่ 14 ก.ย. 2559
องค์คณะผู้พิพากษาฯ พิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การดำเนินคดีของศาลฎีกาฯ ใช้ระบบการไต่สวน ศาลมีหน้าที่ตรวจคำร้อง หากผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้าใจข้อหาอาจแถลงให้ศาลสั่งผู้ร้องชี้แจงเพิ่มเติมได้ เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องนั้นไว้พิจารณาคดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องคำร้องเคลือบคุมให้ต้องวินิจฉัย
คดีกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ใช่เป็นผลที่เกิดจากการก่อหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงไม่มีอายุความ
ส่วนประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น พยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาขัดแย้งกันเอง และขัดแย้งกับที่พยานเคยให้การต่อ ป.ป.ช.จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้บ้านมาก่อนการดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการก่อสร้างบ้านได้ทำต่อเนื่องจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปลายปี 2542
นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ปี 2539 และพ้นจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2544 ซึ่งความหมายคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และคำว่า“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หมายรวมถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ดังนั้น ตั้งแต่ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกเป็น ส.ส.ปี 2539 จนพ้นจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการในวันที่ 5 ก.พ. 2544 ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีสถานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้บ้านดังกล่าวมาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่อาจนำสืบให้เห็นได้ว่าบ้านดังกล่าวได้มาโดยไม่ได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ จึงเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบนั้น และยังขัดต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ให้ศาลสั่งทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้
องค์คณะจึงมีมติเอกฉันท์พิพากษาให้บ้านพักเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง มูลค่า 16 ล้านบาท ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 14360 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตร.ว. ตกเป็นของแผ่นดิน
ทาง ด้านนายสมศักดิ์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ เดินทางมาฟังคำพิพากษากล่าวเพียงสั้นๆว่ายอมรับคำวินิจฉัยของศาลที่เป็นไปตามกติกาบ้านเมือง ตนเป็นนักการเมืองต้องเคารพกติกา ส่วนคำวินิจฉัยของศาลผูกพันอนาคตทางการเมืองหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามกติกา ไม่มีปัญหาอะไร
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เกิดวันที่ 27 เมษายน 2494 มีชื่อเล่นว่า "หมู" จึงมักถูกเรียกว่า ตือ หรือ เสี่ยตือ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ ธนบุรี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายสมศักดิ์ มีทายาทเข้าสู่วงการเมือง 3 คน คือ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา และ นายภคิน ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง
ส.ส. อ่างทอง 9 สมัย
นายสมศักดิ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง 9 สมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เคยเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2538, เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2540 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2542
มีบทบาทโดดเด่นจากการทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นที่ยอมรับว่าทำหน้าที่ได้อย่างดี เป็นธรรม เป็นกลางแก่ทุกฝ่ายมติสื่มวลชนสายรัฐสภาให้ฉายาว่า "คนดีศรีสภา" ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 นายสมศักดิ์ ได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปี พ.ศ. 2551 นายสมศักดิ์ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค แต่นายสมศักดิ์ก็ยังนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในฐานะแกนนำกลุ่ม ส.ส. สื่อมวลชนให้ชื่อกลุ่มแกนนำนี้ว่า "8ส.+ส.พิเศษ"ประกอบด้วย สมศักดิ์ เทพสุทิน,สมคิด จาตุศรีพิทักษ์,สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล,สุวิทย์ คุณกิตติ,สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, สุรนันทน์ เวชชาชีวะ, สนธยา คุณปลื้มและสรอรรถ กลิ่นประทุม ส่วน ส.พิเศษ คือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์